สำหรับการหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานาธิบดีจีนได้เปิดเผยถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศจีนตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วง 35 ปีหลัง ซึ่งจะยังคงต้องเดินหน้าปฎิรูปในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจีนยังได้วางเป้าหมายหลักของการดำเนินการ 3 ประการ คือ การพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ทั้งทางบกและทางทะเล การดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างเป็นอิสระ และ ความฝันของจีน (China Dream)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือไทยและจีนจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาความก้าวหน้าของจีนทั้ง 3 ประการด้วย และในโอกาสที่ปีหน้า จะครบรอบ 40 ปี ของความสัมพันธ์ไทย-จีน และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษาด้วย จึงได้ขอเรียนเชิญประธานาธิบดีจีน เดินทางมาเยือนไทยเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระพิเศษนี้ด้วย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในรอบด้านระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค โดยในการหารือกับท่านประธานาธิบดีของจีนครั้งที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้เน้นเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4 สาขา คือ ด้านรถไฟ การบริหารจัดการน้ำ พลังงาน และการศึกษา ซึ่งในการหารือกับนายกรัฐมนตรีของจีน นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของฝ่ายไทย โดยเฉพาะในเรื่องรถไฟ ส่วนในความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การค้า การสื่อสาร การท่องเที่ยว ก็จะได้ร่วมกันผลักดันให้มีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านนายสี จิ้นผิง ได้ชื่นชมไทยในการทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - จีน อีกทั้งจีนจะสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง จีนจะดำเนินการทูตด้วยความจริงใจ มีไมตรีจิต เน้นการมีส่วน การบรูณาการความร่วมมือและสร้างความยั่งยืน จีนและไทยได้ร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ทั้งวิกฤตการเงิน โรคซาร์ส แผ่นดินไหว อุทกภัย มีความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยี อีกทั้ง ประชาชนทั้งสองประเทศมีการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งตนจะได้กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางเยือนไทยต่อไป
ส่วนการพบปะหารือกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนนั้น ได้มีการพูดคุยทั้งการส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ และการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งและเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย
ทั้งสองฝ่ายจะได้เร่งรัดการดำเนินการ MOU 2 ฉบับ ที่ได้มีการลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามข้อตกลง ทั้ง MOU ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เห็นชอบร่วมกันที่จะให้คณะกรรมการร่วม ได้เริ่มหารือกันภายในต้นปีหน้า สำหรับ MOU ความร่วมมือด้านเกษตรนั้น จีนยืนยันที่จะพิจารณาเพิ่มการรับซื้อสินค้าเกษตร ทั้งในส่วนของข้าวและยางพารา จากไทย โดยรัฐบาลหวังว่าจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยผลักดันสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือในความร่วมมือด้านอื่นๆ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีจีน ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือทั้งด้านตลาดทุนและตลาดเงิน ระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมระหว่างเงินบาทของไทยและเงินหยวนของจีน การส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนจีน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านวิชาการเรื่องน้ำในด้านต่างๆ ประกอบด้วย บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแต่งตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารประชาชนจีน (ธนาคารกลางจีน) ความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท เพื่อต่ออายุความตกลงฯ ฉบับเดิมที่ลงนามเมื่อปี 2555 และกำลังจะหมดอายุในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารประชาชนจีน (ธนาคารกลางจีน), บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้าและการชลประทาน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน และ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศจีน จากัด (Bank of China Limited)
สำหรับการหารือระหว่างกับนายจาง เต๋อเจียง ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีนนั้น ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแนวทางการปฏิรูปกฎหมายและนิติบัญญัติ และความสัมพันธ์ในระดับประชาชนกับประชาชน รวมทั้งได้เรียนเชิญประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีนเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปีหน้า เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระโอกาส ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปีหน้าด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรถไฟแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการควบคุมรถไฟจีนทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ย่อยอีก 18 ศูนย์ เป๋นศูนย์ที่ใช้เทคโนดลยีทีทันสมัยที่ สามารถติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมการเดินรถไฟจีนทุกขบวนในระยะเวลาจริง และได้ทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจิน ที่มีระยะทาง 120 กม โดยใช้เวลาเดินทาง 33 นาที ซึ่งจะเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาเป็นหนึ่งแนวทางพัฒนารถไฟไทย ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลได้เริ่มด้วยการพัฒนารถไฟที่สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 160 กม/ชม และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทยต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้เปิดเผยถึงการหารือกับภาคเอกชนจีนว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านดิจิตอล เพื่อให้ไทยก้าวหน้าไปสู่ความทันสมัย พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์โทรคมนาคมของภูมิภาคเช่นเดียวกัน (IT Hub) เช่นเดียวกัน อาทิ การพัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวสาร (Data Center) ที่จะต้องสามารถดำเนินงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีความสมารถในการบรรจุข้อมูลได้อย่างไม่จำกัดและ มีศักยภาพในการส่งข้อมูล ข่าวสารทั้งภาพ เสียง วิดิโอ ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการต่อยอดห้กับเศรษฐกิจไทย แต่จะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการส่งเสริมระบบการเรียนการสอน และการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้กับคนไทยทั่วประเทศได้