"หม่อมอุ๋ย"แจงผลงานรัฐบาล 3 เดือนเน้นกระตุ้นศก.-สร้างงาน-กระจายรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 25, 2014 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลช่วง 3 เดือนในด้านเศรษฐกิจว่า รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.57) โดยให้แต่ละกระทรวงเร่งรัดการทำสัญญาจ้างและเบิกจ่ายเงินงบลงทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อช่วยเร่งการสร้างงานและกระจายรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้

ในส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึงวันที่ 12 ธ.ค.57 แบ่งเป็น งบลงทุนปีงบประมาณ 2557 ที่เหลืออยู่ 147,050.80 ล้านบาท สำนักงบประมาณอนุมัติให้กันเหลื่อมปีไว้ 140,650.40 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 33,115.65 ล้านบาท ทำสัญญาผูกพันแล้ว 49,212.66 ล้าทบาท

ด้านงบลงทุนปีงบประมาณ 2558 ทุกกระทรวงประมาณการต้องใช้งบช่วง 3 เดือนแรก เป็นจำนวน 149,146 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 27,255.48 ล้านบาท ทำสัญญาก่อหนี้แล้ว 41,564.61 ล้านบาท ส่วนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายฯ ปี 2555-25557 และงบไทยเข้มแข็ง วงเงิน 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบกลางฯ วงเงิน 7,799.79 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 4 หน่วยงาน รวม 87.88 ล้านบาท ทำสัญญาก่อหนี้แล้ว 1,376.72 ล้านบาท และงบไทยเข้มแข็ง วงเงิน 15,200 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1 หน่วยงาน 1.49 ล้านบาท ทำสัญญาก่อหนี้แล้ว 67.56 ล้านบาท

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ในส่วนมาตรการระยะสั้น ฤดูการผลิต 2557/58 ได้ดำเนินการในโครงการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่ง นบข.อนุมัติการชดเชยดอกเบี้นร้อยละ 3 ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวซื้อข้าวเก็บในสต๊อกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด ตั้งเป้าที่ 6 ล้านตัน ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ช่วงพฤศจิกายน 2557- กันยายน 2558 จากข้อมูล 1 ธันวาคม มีผู้ประกอบการค้าข้าวเข้าร่วมโครงการ จำนวน 146 ราย วงเงินกู้ 26,771 ล้านบาท ปริมาณจัดสรร 2.73 ล้านบาท พร้อมทั้งออกมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2557/58 (สต๊อกยุ้งฉาง) วงเงิน 34,788 ล้านบาท

ส่วนการระบายข้าวนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวในสต๊อกและส่งออกข้าวใหม่ ซึ่งระบายข้าวไปแล้วมากกว่า 1 ล้านตัน โดยมีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ กับหน่วยงานจัดซื้อข้าวภาครัฐ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวม 775,000 ล้านบาท จำหน่ายให้แก่เอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ปริมาณ 59,608 ตัน และมีการเปิดประมูลข้าวทั่วไป รวม 3 ครั้ง ปริมาณ 348,838 ตัน

ขณะที่มันสำปะหลัง มีมาตรการระยะสั้น คือ การชดเชยดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว และเพิ่มสภาพคล่องทางการค้า ส่วนระยะปานกลาง จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด และยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลัง ส่วนอ้อยและน้ำตาล ได้ให้ความช่วยเหลือ และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิต 56/57 วงเงิน 16,000 ล้านบาท ส่งเสริมการนำน้ำตาลทรายดิบมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบเอทานอล และจัดทำยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทรายปี 58-69

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ยังได้ตั้งตลาดเกษตรกร เพื่อจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์โดยตรง เป็นแหล่งเปิดตัวผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะของท้องถิ่นทุกจังหวัด และให้จัดต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งจัดทำโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย และประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท นอกจากนี้ยังมียังมีมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งเสริมการลงทุน ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ระยะ 7 ปี (58-64) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุปัน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ซึ่งได้มีการยกเว้นภาษีให้กับบริษัทที่จะมาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ รวมถึงมีการปรับปรุงระเบียบการอนุญาตให้คนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยการออกวีซ่าและใบอนุญาตให้รองรับและสอดคล้องกับรูปแบบ และหลักเกณฑ์ของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะแรกใน 5 พื้นที่ ได้แก่จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ชายแดนจังหวัดตราด ชายแดนจังหวัดมุกดาหาร และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยให้มีการจัดตั้งและกำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า รัฐบาลยังได้มีการแก้ไขด้านพลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงและปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง พร้อมทั้งประกาศปรับราคาเชื้อเพลิงบางประเภทและอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเป็นระยะๆ อีกทั้งได้ออกประกาศให้สิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมไว้เป็นปริมาณสำรองเพิ่มเติม รวมไปถึงการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงาน

นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่สำคัญ และหาแนวทางดำเนินการให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งโครงการถนน รถไฟ รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน และทางน้ำ ส่วนใหญ่จะลงทุนในปีหน้า เช่น รถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ขณะที่ด้านการคลัง มีเรื่องสำคัญคือ กฎหมายภาษีมรดกและภาษีการให้ ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย(นาโนไฟแนนซ์) จัดตั้งกองทุนร่วมทุน ออกพันธบัตรออมทรัพย์ รวมทั้งยังมีงานด้านผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลและงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ