วันนี้คาดว่าเงินบาทยังคงแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆ เนื่องจากเป็นช่วงท้ายปี การทำธุรกรรมทางการเงินเริ่มเบาบางลง รวมทั้งวันนี้ตลาดเงิน ตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกาต่างปิดทำการเนื่องในวันคริสต์มาส จึงเชื่อว่าวันนี้คงไม่มีปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินมากนัก
"เมื่อวานต่อเนื่องถึงวันนี้ตลาดหลายประเทศหยุดทำการเนื่องในวันคริสต์มาส คาดว่าวันนี้เงินบาทคงทรงตัว เคลื่อนไหวแค่ในกรอบแคบๆ" นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า ต้นสัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.88-32.92 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.25 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 120.11/14 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโร เช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.2218 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.2220/2264 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.8960 บาท/ดอลลาร์
- รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับแผนการออกพันธบัตรปี 2558 โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 15 วัน ที่เดิมมีการประมูลทุกสัปดาห์ เป็นประมูลเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม รวมทั้งปรับลดวงเงินการประมูลเป็นไม่เกิน 1-5 หมื่นล้านบาท จากเดิม 3-7 หมื่นล้านบาท ขณะที่พันธบัตร ธปท.ประเภทอายุอื่นยังประมูลตามแนวทางปฏิบัติเดิม
- เรกูเลเตอร์ เคาะลดค่าไฟฟ้าเอฟทีลง 10.04 สตางค์ต่อหน่วย ในงวด ม.ค.-เม.ย.2558 มาอยู่ที่ 58.96 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าบ้านเรือนโดยรวมเป็น 3.86 บาทต่อหน่วย
- คลังสุดปลื้มธุรกิจ นาโนไฟแนนซ์เนื้อหอมเอกชนทยอยร่วมโครงการ หลังรัฐผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ ด้าน สศค. เตรียมศึกษาแนวทางแก้ปัญหา หนี้นอกระบบเพิ่มอีก
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีเงินสะพัด 1.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากปี 2556 ซึ่งเป็นมูลค่าการใช้จ่ายที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ช่วยให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพื่อการใช้จ่ายที่มากขึ้น
- วันนี้ตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการเนื่องในวันคริสต์มาส
- วันนี้ตลาดหุ้น, ตลาดเงิน, ตลาดทองคำ, ตลาดน้ำมันนิวยอร์ก ปิดทำการเนื่องในวันคริสต์มาส
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย.ของญี่ปุ่น ปรับตัวลง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยังคงประสบปัญหาในการฟื้นตัวหลังจากการปรับขึ้นภาษีการขายเมื่อเดือนเม.ย.
- รัฐบาลญี่ปุ่นเสร็จสิ้นการจัดทำชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉิน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นโยบาย "อาเบะโนมิกส์" ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ส่งผลกระเพื่อมไปถึงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยชุดมาตรการฉุกเฉินดังกล่าวรวมถึงมาตรการสนับสนุนภาคครัวเรือนและบริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน และจากการขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อวันที่ 1 เม.ย. โดยคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดอนุมัติชุดมาตรการดังกล่าว ซึ่งจะคิดเป็น 3.5 ล้านล้านเยนในงบประมาณรายจ่าย