ทั้งนี้ ในปี 2557 เศรษฐกิจภูมิภาคในกลุ่มจังหวัดที่มีการเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ขยายตัวอยู่ที่ 3.7% เนื่องจากเป็นกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงภาพรวมการค้าตามแนวชายแดนที่มีการขยายตัวสูงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคในกลุ่มจังหวัดที่มีการเติบโตน้อยที่สุด คือ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ขยายตัวอยู่ที่ 1.3% เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
"เศรษฐกิจภูมิภาคมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ มูลค่าประมาณ 8.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มของขนาดและการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละจังหวัดมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและปัจจัยการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อาทิ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน การพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งการลงทุนในระบบการขนส่งสินค้า เป็นต้น" นายมนัส กล่าว
พร้อมระบุว่า มีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคในปี 2558 จะขยายตัวอยู่ที่ 4.7% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 4.2-5.2% โดยคาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคกลุ่มจังหวัดที่มีการเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ขยายตัวในช่วงประมาณการณ์ที่ 5.5-6.5% เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น และเศรษฐกิจภูมิภาคกลุ่มจังหวัดที่มีการเติบโตน้อยที่สุด คือ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ขยายตัวในช่วงประมาณการณ์ที่ 2.1-3.1% เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพาภาคการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกยางพารา ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่แม้จะประเมินว่าในปี 58 ราคายางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สูงมากนัก รวมทั้งยังมีปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย