ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน มีปริมาณการขาย 73,068 คัน ลดลง 21.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 26.6% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 17.8% เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง ประกอบกับการปรับตัวของตลาดรถยนต์หลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก
ตลาดรถยนต์สะสม 11 เดือน มีปริมาณการขาย 792,328 คัน ลดลง 34.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 42.5% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 27.9% อัตราการเติบโตของยอดขายสะสมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และความเข้มงวดของสถาบันทางการเงิน รวมถึงการระมัดระวังด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ
ส่วนตลาดรถยนต์ในเดือนธันวาคม แนวโน้มทรงตัว ถึงแม้ว่าจากสถิติการขายปกติจะเป็นเดือนที่มียอดขายสูงสุดของปี ประกอบกับการจัดงานมอเตอร์เอกซ์โป ที่เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดรถยนต์ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และแผนการลงทุนของภาครัฐที่มีความชัดเจนล้วนมีส่วนสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วงปลายปี
แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลง จากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งกำลังซื้อโดยรวมในประเทศมีสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากระดับราคาพืชผลทางการเกษตรยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้แนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนธันวาคมยังอยู่ในสภาวะทรงตัว