"มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤศจิกายน 2557 กลับมาหดตัว 1% โดยมีปัจจัยจากการหดตัวในสินค้าเกษตรสำคัญอย่าง ยางพารา รวมทั้งการหดตัวสูงในสินค้า น้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกของไทยหากไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูป ยังคงมีสัญญาณฟื้นตัวได้ดี โดยขยายตัว 1.4%"
ขณะที่ช่วง 11 เดือนปีนี้(ม.ค.-พ.ย.57) มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 209,188 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลดลง 0.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 210,752 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลดลง 8.99% จากช่วงเดียวกัของปีก่อนเช่นกัน โดยดุลการค้ายังขาดดุลรวม 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.57 ที่ปรับตัวลดลง นอกจากจะเป็นเพราะการหดตัวจากราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและราคาน้ำมันแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด
โดยตลาดญี่ปุ่นลดลง 10% ซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีที่เงินเยนอ่อนค่า ประชาชนในประเทศเน้นการออมเงินมากกว่าการนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนตลาดยุโรปลดลง 5.2% เนื่องจากเศรษฐกิจในยูโรโซนยังมีความเปราะบาง อัตราการว่างงานสูง ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงจากผลของผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่าย ขณะที่ตลาดจีนลดลงถึง 18% เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา นอกจากนี้ ตลาดตะวันออกกลางยังลดลง 7.5% จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ประกอบกับเศรษฐกิจเติบโตได้ไม่เท่าที่เคยคาดการณ์ไว้
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในเดือน ธ.ค.57 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายในปีนี้ หากมูลค่าการส่งออกทำได้ไม่ถึง 19,300 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบได้
"ถ้าธันวาคมนี้ส่งออกได้ไม่ถึง 19,300 ล้านดอลลาร์ ปีนี้ก็จะติดลบ แต่ถ้าเกินจึงจะบวก" นางนันทวัลย์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มการส่งออกสำหรับปี 58 นั้น กระทรวงพาณิชย์ยังคงตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4% อย่างไรก็ดีการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 58 ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ซึ่งกรมฯ กำลังรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศของแต่ละแห่ง เพื่อประเมินผลกระทบจากกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมากว่าประเทศใดหรือสินค้าได้รับผลในทางบวก และประเทศใดหรือสินค้าใดได้รับผลในทางลบ จากนั้นจะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกในปีหน้าอีกครั้ง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เคยประเมินการส่งออกในปี 58 ที่ขยายตัวได้ 4% มาจากสมมติฐานของอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าที่มีแนวโน้มจะส่งออกได้ดีในปี 58 คือ เม็ดพลาสติก, เครื่องจักรกล, วัสดุก่อสร้าง, อาหารประเภทเนื้อหมู-เนื้อไก่ และอาหารทะเล(ไม่รวมกุ้ง) ขณะที่สินค้าที่ยังน่าเป็นห่วงในปีหน้า คือ ยางพารา, กุ้ง และน้ำมัน