อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมผ่านอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนที่ลดลง เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลงและการส่งออกที่ทรงตัว ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ภายหลังจากการเมืองมีความชัดเจนขึ้น การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนชะลอลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำและเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี
ขณะที่ การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่บางรายส่วนหนึ่งจากการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน อาจทำให้อ่อนไหวต่อปัจจัยต่าง ๆมากขึ้น ความผันผวนในตลาดการเงินไทยลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เงินทุนไหลกลับเข้ามาหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงแต่โดยรวมตลอดทั้งปียังเป็นยอดขายสุทธิ โดยเงินบาทโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งหลังของปีขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับสูงขึ้นจากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ ความสามารถในการหารายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เงินกองทุนและเงินส รองอยู่ในระดับสูง จึงยังสามารถขยายสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยในปัจจุบันที่ได้รับการติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลงและผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินไทยยังค่อนข้างจำกัด แต่หนี้ที่สะสมอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลต่อการบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ จึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารรายได้รายจ่ายและวินัยทางการเงินของครัวเรือน ควบคู่กับการพัฒนากลไกตลาดให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การขยายสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลงบ้างตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคในประเทศและลูกหนี้รายย่อยที่กู้เพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลและรถยนต์มือสอง ด้านตลาดหลักทรัพย์ไทยเริ่มเห็นสัญญาณการเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กในตลาด mai จึงเกิดความกังวลว่านักลงทุนอาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ความเสี่ยงดังกล่าวยังจำกัดเนื่องจากมูลค่าหุ้นในตลาด mai ยังไม่มากและทางการได้ออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยที่อาจเกิดขึ้นในระยะปานกลาง ได้แก่ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องในระบบการเงินโลกอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่คาดซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและตลาดการเงินในเอเชียมีความผันผวนมากขึ้น แต่คาดว่าผลกระทบต่อตลาดการเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยไม่น่าจะมากนัก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากภาคการคลังของไทย ซึ่งแม้ในระยะสั้นยังไม่น่ากังวลเนื่องจากระดับหนี้สาธารณะต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ความเสี่ยงในระยะยาว เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างรายรับที่ค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคตหากรัฐยังคงใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่รายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น การเร่งปฏิรูปโครงสร้างภาคการคลังซึ่งภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพภาคการคลังได้ในอนาคต