ในส่วนของการบริโภคนั้น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือน พ.ย.57 ขยายตัวได้เล็กน้อย 0.6% แม้ว่าการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศจะขยายตัวได้ 4.5% แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าติดลบ 4.3% และเมื่อพิจารณาจากยอดการขายรถยนต์ พบว่าติดลบ 27.7% รถจักรยานยนต์ติดลบ 12% เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรลดลง จากราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำ
สำหรับการลงทุนภาคเอกชน การจัดเก็บภาษีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ติดลบ 12.6% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบเพียง 2.9% ยอดขายปูนซิเมนต์ติดลบ 8.5% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 8% และยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ติดลบ 17.4% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 13.6%
ขณะที่การส่งออกเดือน พ.ย.57 ติดลบ 1.0% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ดี 4% ส่วนการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้เป็นเดือนที่ติดต่อกันที่ 2.5% แต่ขยายตัวได้น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 6.1%
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.เปิดเผยว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ย.พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 3.5% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 3% ต่อปี โดยเป็นการลดลงจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่ยังคงติดลบ 13.9% ต่อปี เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี รวมถึงผลผลิตยางพาราปรับตัวลดลงจากปัญหาฝนชุกในเขตพื้นที่ภาคใต้
สำหรับภาคบริการ พบว่ายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือน พ.ย.ขยายตัว 2.5% ต่อปี เป็นการขยายตัวติดต่อกันเดือนที่ 2 โดยนักท่องเที่ยวระยะใกล้ที่กลับมาขยายตัวเป็นกลุ่มแรก เช่น จีน ขยายตัวสูงถึง 58.9% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ย.อยู่ที่ 1.3% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1.5% ต่อปี จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ 0.5% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานที่ 2.1 แสนคน