ทั้งนี้ ผลงานในปี 57 กระทรวงฯ ได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อน Digital Economy ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ครอบคลุม Digital Economy ในด้านต่างๆ คือ 1.Hard Infrastructure 2.Soft Infrastructure 3.Service Infrastructure 4.Digital Economy Promotion 5.Digital Society และ Knowledge Resource ให้พร้อมเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติทันทีที่กฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และให้หน่วยงานในสังกัดทบทวนภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy และจัดทำ Roadmap การขับเคลื่อน Digital Economy ระยะ 3 ปี
รวมทั้งจัดทำโครงการนำร่องที่สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว อาทิ 1.ระบบ Enterprise Resource Planning(ERP) 2.ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) 3.Application Program Interface(API) 4.e-Market Place 5.เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้พิการ 6.อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์) ตลอดจนจัดทำข้อมูลการบูรณาการโครงข่ายไฟเบอร์ออพติคส์ภาครัฐ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการ Digital Economy แห่งชาติ ในส่วนของ Hard Infrastructure
ขณะเดียวกันได้นำเสนอ พ.ร.บ.เพื่อจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติและเฉพาะกิจ 5 ด้าน รวมทั้ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.57 และขณะนี้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา รวมทั้งได้ดำเนินการแก้ไข/ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ และร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอีก 4 ฉบับ ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับข้างต้น จะนำเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ และเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ภายในเดือน ก.พ.58
ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย(Cyber Security) และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ แบ่งเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมที่กระทำความผิดในรอบ 3 เดือนได้รับแจ้งการกระทำความผิด พร้อมส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการในเรื่อง เว็บไซต์หมิ่นสถาบันและเว็บไซต์ลามกอนาจาร จำนวน 1,688 URLs ประสานงานกับเว็บไซต์ยูทูปเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 249 URLs อีกทั้งมีคำสั่งศาลอาญา(หมายเลขคดีดำ) ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 1,067 URLs และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะกรณีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชน ยึดหลักยุทธศาสตร์ 4 ป.ได้แก่ ปราบปราม ป้องกัน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ลงไปตรวจสอบเข้มงวดเกี่ยวกับการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดไปแล้ว จำนวน 2 ราย และจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป
ด้านการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหาสัญญาสัมปทานดาวเทียม กระทรวงไอซีทีได้รับมอบดาวเทียมสำรอง(ไทยคม 6) เป็นทรัพย์สินของรัฐ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 72 เพื่อดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียม IP Star และสัดส่วนการถือหุ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนสัมปทานรัฐวิสาหกิจ การแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ(บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม) ตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ขณะนี้ TOR สำหรับจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงการดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้าง
สำหรับการแก้ไขปัญหากฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนระหว่างกระทรวงไอซีที กับ กสทช. ได้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างกระทรวงไอซีทีกับ กสทช. โดยคณะทำงานปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แล้ว จำนวน 4 ครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.57 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทั้งสองหน่วยงานดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ร่วมกัน ซึ่งจะมีการปรับแผนการดำเนินการต่อไป
ส่วน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม จะดำเนินการจัดทำ MOU ร่วมกัน โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อจัดทำร่าง MOU คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ม.ค.58 สำหรับปัญหาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์ระบบดิจิทัลและดาวเทียมสื่อสาร ปัญหาการได้มาซึ่งเงินรายได้แผ่นดินอันเกิดจากการให้อนุญาต ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบกฎหมายและเกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานทั้งสอง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ กระทรวงฯ ได้มีการพิจารณา เห็นควรจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับการปรับปรุงระบบกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารของประเทศไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ด้านความมือระหว่างประเทศ กระทรวงฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการ (Secretary General) และรองเลขาธิการ (Deputy Secretary General) ในการประชุมสมัชชา สมัยที่ 13 และการประชุมคณะกรรมการจัดการ สมัยที่ 38 ขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) ณ เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า เมื่อวันที่ 23–30 พ.ย.57 โดย น.ส.อารีวรรณ ฮาวรังษี รองปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้แทนไทยที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ APT เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการ APT ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ
การได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้แสดงถึงศักยภาพและความสามารถของคนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการระหว่างประเทศ การเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 14 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM) ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 ม.ค.58 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ