กูรูเกษตรมองกุ้งทวงคืนตำแหน่งดาวเด่นปีแพะ ด้านข้าว-ยาง-มันฯ ประคองตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 5, 2015 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการธุรกิจการเกษตร คาดว่าอุตสาหกรรมกุ้งจะฟื้นกลับมาเป็นดาวเด่นในปีแพะ โดยเฉพาะในแง่ของการส่งออก หลังจากผ่านพ้นช่วงโรคระบาดหนักที่กระทบต่อปริมาณผลผลิต ขณะที่ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง แนวโน้มปีนี้คงทำได้แค่ประคองตัวจากปีก่อน โดยอาจราคาและปริมาณอาจทรงตัวหรือดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกับภาพรวมสินค้าเกษตรส่วนใหญ่

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ มองว่า ทิศทางสินค้าเกษตรปี 58 ในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัวและดีขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่มีสินค้าเกษตรตัวใดอยู่ในโซนเสี่ยง แม้ว่าบางตัวอาจจะน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่คงสามารถดูแลจัดการได้ ซึ่งภาครัฐจะมีการติดตามการผลิตในแต่ละเดือน และความต้องการของตลาด เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกัน

ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจการเกษตรที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 2-3% เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น แต่เราจะประเมินจากปัจจัยต่างๆ และทบทวนทุกเดือน

"ปี 58 ไม่มีทรงๆ และทรุด ยืนยันได้...เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน สินค้าเกษตรยังมีความสำคัญเพราะเชื่อมโยงกับเรื่องอาหารทั้งของคนและของสัตว์ พลังงาน และภาคอุตสาหกรรม" นายอำนวย กล่าว

*ชู"กุ้ง"สินค้าเกษตรดาวเด่นปีแพะ หลังก้าวผ่านปัญหาโรค EMS

ล่าสุดสมาคมกุ้งแถลงว่าสถานการณ์การผลิตและส่งออกกุ้งปี 58 จะฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากความพยายามแก้ปัญหาโรคระบาดตายด่วน(EMS)ประสบผลสำเร็จจนสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนปัญหาหรือุปสรรคทางการค้าต่างๆ ทั้งเรื่องการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ปัญหาแรงงาน และปัญหาค้ามนุษย์นั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคใหญ่โตมากนัก

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย คาดว่าปี 58 ประเทศไทยจะสามารถผลิตกุ้งได้ในปริมาณ 2.5-3 แสนตัน ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติจากปีนี้ผลิตได้ลดลงจากปีก่อนประมาณ 8% หรือผลิตได้ประมาณ 2.3 แสนตัน เนื่องมาจากปัญหาโรคตายด่วน(EMS)ที่เผชิญมาตั้งแต่ปลายปี 54

ขณะที่การส่งออกในปี 58 คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 20% หรือมีปริมาณส่งออกกุ้งราว 2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 7.5-8 หมื่นล้านบาท จากปี 57 ที่คาดว่าเมื่อถึงเดือน ธ.ค.57 จะส่งออกได้รวม 1.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกเกือบ 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกุ้งยังเป็นอาหารที่ทั่วโลกยังต้องการ โดยอัตราการบริโภคกุ้งสูงราว 4 หมื่นปอนด์/คน/ปี สูงกว่าทูน่าที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 3.6 หมื่นปอนด์/คน/ปี

*ข้าวยังเหนื่อย แต่คงไม่แย่ลงจากปีก่อน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มสินค้าเกษตรไทยปี 58 ทั้งยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ยังค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้ที่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ลดลง ขณะที่ซัพพลายยังทรงตัวในระดับสูง

"ปีนี้ยังไม่ค่อยดีทุกตัว ไม่มีสินค้าเกษตรตัวไหนที่ราคาจะพุ่งกระฉูด ยาง ข้าว มันสำปะหลังหาตัวเด่นไม่ได้ แต่คงประคองกันไปทั้งกลุ่ม"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายพรศิลป์ คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวปี 58 น่าจะยังทำได้ใกล้เคียงปีก่อนที่ราวๆ 10-11 ล้านตัน แต่สำคัญคือรัฐบาลอย่ามีนโยบายแทรกแซงกลไกตลาด เพราะจะทำให้ต้นทุนแพงลิ่ว ซึ่งส่งผลเสียต่อการส่งออกข้าวของไทย

"ข้าวเรามีปัญหามาตั้งแต่นโยบายการแทรกแซง...ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวจะเร่งมากก็ไม่ได้ ผลผลิตแต่ละปีจะออกมา 30 ล้านตัน เรากินครึ่งนึง ส่งออกครึ่งนึง จะไม่พ้นจากนี้มาก เพราะพื้นที่จำกัด และรัฐบาลมีนโยบายจะลดพื้นที่ปลูกข้าวด้วย"นายพรศิลป์ กล่าว

ส่วนการผลิตข้าวของเวียดนามและพม่ายังสามารถผลิตได้เรื่อยๆ หากไม่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติ จึงถือว่ายังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในด้านของการแข่งขันเรื่องราคา แต่สถานการณ์คงไม่เลวร้าย คาดว่าราคาอาจจะดีขึ้นกว่าปี 57 ราว 10-20%

จากราคาส่งออก F.O.B. ณ วันที่ 17 ธ.ค.57 ข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ที่ระดับ 945-1,053 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ข้าวสาร 5% อยู่ที่ 416 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนเวียดนาม ราคาข้าว 5% อยู่ที่ 395 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และอินเดีย อยู่ที่ 390 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าปี 58 ข้าวเป็นสินค้าที่เหนื่อยอีกปี โดยทั้งปีคาดว่าไทยจะมีผลผลิตข้าว 20 ล้านตันข้าวสาร แต่หากภัยแล้งรุนแรงไม่สามารถทำนาปรังได้ ปริมาณข้าวอาจลดลงเหลือเพียง 18-19 ล้านต้นข้าวสาร แต่ข้าวในสต๊อกยังเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้ราคาสูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 58 ราคาข้าวเปลือกจะอยู่ที่ไม่เกิน 8,000-8,500 บาท/ตัน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวในปี 58 คาดว่าจะยังทำได้ดีจากปีก่อนที่สิ้นเดือนพ.ย.57 ตัวเลขการส่งออกข้าวจำนวน 10.2 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และคาดว่าในสิ้นปีจะสามารถส่งออกได้ประมาณ 10.6-10.7 ล้านตัน

*ยางฯ ยังลำบาก แม้คาดราคากระเตื้องขึ้นบ้าง

นายพรศิลป์ กล่าวถึงทิศทางราคายางพาราในปีนี้ว่า ยังลำบาก แม้คาดว่าว่าราคาเฉลี่ยน่าจะดีกว่าปีก่อน แต่คงไม่เกิน 80 บาท/กก.จากปลายปี 57 ที่อยู่ระดับ 40-50 บาท/กก.เพราะเชื่อว่าเกษตรกรคงหยุดกรีดยาง ทำให้ซัพพลายลดลงก็อาจจะทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้นบ้าง

"ปี 57 ราคายางลงต่ำมากแตะ 40 กว่าๆ แต่น่าจะแตะจุดต่ำสุดแล้ว ปี 58 คงดีกว่าปีที่แล้ว แต่คงไม่กลับไปรุ่งเรืองมากเหมือนหลายปีก่อน"นายพรศิลป์ กล่าว

ขณะที่ความต้องการยางพาราในตลาดโลกนั้น ทางจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้รายใหญ่ มีนโยบายจะรักษาและฟื้นเศรษฐกิจในประเทศแปลว่างบประมาณส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นหลังการเลือกตั้งนายชินโสะ อาเบะ ได้รับเลือกให้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง ก็คงเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจที่เคยได้พูดไว้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็น่าจะดีขึ้น แต่คงไม่ก้าวกระโดด เพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ไปช้าแต่มั่นคง เพราะฉะนั้นโดยรวมยางคงไม่แย่ไปกว่าปี 57

*มันสำปะหลังคาด Slowdown ตามราคาน้ำมัน

ขณะที่ทิศทางมันสำปะหลังในปี 58 นายพรศิลป์ กล่าวว่า ราคาอาจจะ Slowdown หากราคาน้ำมันยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะการที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อปริมาณการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอลให้ลดลง แต่ยังหวังว่าราคาน้ำมันจะกลับไปที่ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากขณะนี้อยู่ที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อีกทั้งมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความต้องการรองรับและยังสามารถขยายพื้นที่ปลูก ซึ่งที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตอยู่ในระดับที่เหมาะสมทำให้ราคาไม่ได้ลดลงมากนัก, ส่วนอ้อยและน้ำตาล มองว่าดีมานด์ซัพพลายจำกัดตามโควต้า เนื่องจากโครงสร้างเป็นระบบผูกขาด ทำให้ปี 58 คงไม่ต่างกับปีก่อนๆ

ในส่วนของอาหารสัตว์ คาดว่าผลผลิตและความต้องการยังเติบโตได้ประมาณ 6-7% หรือประมาณ 16-17 ล้านตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ