สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/58 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยจะยังคงผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การปรับตัวลงของค่าไฟฟ้า Ft ในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.58 อีก 10.04 สตางค์/หน่วย และการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภค(ในช่วงที่ราคาพลังงานในประเทศ ยังไม่เพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าขนส่งมากนัก) ที่ยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ประเมินว่าภาพรวมของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ตลอดทั้งไตรมาสแรกของปี 2558 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปรายเดือนน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 1.2 เล็กน้อย
"ภาพเงินเฟ้อที่ยังคงผ่อนคลายลงนี้ ก็เปิดพื้นที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ทิศทางการส่งออก และความคืบหน้าของการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ระบุ
อนึ่ง วันนี้กระทรวงพาณิชย์แถลงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค.57 อยู่ที่ร้อยละ 0.60 โดยราคาน้ำมันในประเทศที่ลดต่ำลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงปลายปี 57 และการปรับตัวลงของราคาอาหารสด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธ.ค.57 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.69
สำหรับภาพรวมในปี 57 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.89 ชะลอลงจากร้อยละ 2.18 ในปี 56 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 57 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.59 จากร้อยละ 1.00 ในปี 56