(เพิ่มเติม) กกร.มองเศรษฐกิจปีนี้โต 3.5-4%ไม่ได้ขยายตัวในอัตราเร่ง จากปี 57 โต 0.6-0.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 6, 2015 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร(กกร.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงท้ายปี 57 ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในเกือบทุกภาคส่วน ทั้งการบริโภคและการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะที่การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยังไม่กลับสู่ระดับปกติ อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบวกจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค

โดยภาพรวมแล้วมองว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 57 จะมีแรงส่งไปยังปี 58 ไม่มาก ทำให้คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 58 นี้จะไม่เป็นแบบอัตราเร่ง โดยจะเติบโตได้ราว 3.5-4.0% จากที่ขยายตัวได้ราว 0.6-0.8% ในปี 57

ทั้งนี้ กกร.คาดว่าการลงทุนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ซบเซามา 2 ปี ด้วยอานิสงค์จากมาตรการภาครัฐที่เชื่อมโยงไปสู่การลงทุนภาคเอกชนในบางส่วน ประกอบด้วย 1.การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณปีก่อนๆ โดยเร่งรัดการทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 2558 วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า, รถไฟทางคู่, มอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ดี การดำเนินการในปีนี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการประกวดราคาและการเวนคืน ทำให้เม็ดเงินจากการก่อสร้างที่เข้าสู่ระบบมีไม่มาก

3.การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทำให้มีการลงทุนด้านพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาการค้าชายแดน และเป็นประตู่สู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลงทุนปรับปรุงขยายด่านสะเดาเพิ่มเติม 4.การสานต่อการอนุมัติโครงการลงทุนของ BOI เช่น โครงการอีโคคาร์ เฟส 2 วงเงินรวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น ทั้งนี้การลงทุนเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

ส่วนการส่งออก มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัว 3.5% จากที่แทบไม่ขยายตัวในปี 57 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ได้รับอานิสงค์จากการเปิดเสรีการค้าและการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งได้ปัจจัยเสริมจากเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าลงตามแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยคาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี การยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) และการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ตลอดจนการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของการส่งออกไทยในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ