"การเสียสิทธิ GSP ของไทยในครั้งนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ใหม่ของ EU ซึ่งได้เคยแจ้งกับไทยและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ทราบหลักเกณฑ์คู่ค้าใหม่นี้ตั้งแต่ 18 ธ.ค.55 อีกทั้ง EU ได้ประกาศใช้กับประเทศคู่ค้าทุกประเทศ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ EU พิจารณาว่าไทยเสียสิทธิ GSP ในครั้งนี้ มาจากการที่ธนาคารโลกจัดอันดับประเทศไทยมีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ติดต่อกันมากกว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2556" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ EU ได้เปิดโอกาสให้ไทยได้ปรับตัวก่อนเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ในปี 2557 ซึ่งไม่เพียงแต่ไทย ยังมีประเทศอื่นที่ถูกตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้ด้วย เช่น จีน, เอลกวาดอร์ และมัลดีฟท์ จากเหตุผลเดียวกัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศระบุด้วยว่าการถูกตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้จะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทยในตลาด EU ต่างถูกตัดสิทธิ GSP เช่นเดียวกัน นอกจากนี้สินค้าไทยหลายรายการที่เคยได้รับสิทธิ GSP จะถูกกลับมาเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ และที่สำคัญคือผู้นำเข้าใน EU ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบางรายการจากไทย
"การที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ 1 ม.ค.58 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของ EU เอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับ EU และประเทศสมาชิก EU" ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจทุกฝ่าย โดยอย่างไปคิดว่าเป็นความสูญเสีย แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของไทยดีขึ้น และยังสามารถขายสินค้าได้เช่นเดิม โดยผู้ประกอบการต้องดูแลเรื่องคุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิต ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กรณีนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก เพราะผู้ประกอบการได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว