ครม.ไฟเขียวแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการบังคับคดี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 6, 2015 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับคดี) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองให้ผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดไม่ต้องรับผิดค่าใช้จ่ายส่วนกลางก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เพราะความรับผิดดังกล่าวเป็นของเจ้าของห้องชุดคนเดิม และเพื่อวางแนวทางให้นิติบุคคลอาคารชุดต้องดำเนินการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเหนือห้องชุดดังกล่าวจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ถูกต้อง เพื่อให้กระบวนการบังคับคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทุกฝ่าย

"ที่ผ่านมามีห้องชุดที่ผู้ซื้อค้างจำนอง ค่าส่วนกลาง 1.4 หมื่นรายการที่อยู่ระหว่างบังคับคดี มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดประเภทของทรัพย์ที่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบังคับคดีกับอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงสังหาริมทรัพย์ไม่มีรูปร่างซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถได้รับชำระหนี้อย่างเต็มสิทธิจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับในคำพิพากษาของศาล, กำหนดการใช้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี โดยแยกประเภทของผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจน ได้แก่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี, กำหนดให้อำนาจการบังคับคดีและความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและดุลพินิจโดยศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่อาจถูกฟ้องให้ต้องรับผิดต่อศาลปกครองได้ และลดขั้นตอนให้ระยะเวลาในการบังคับคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน, กำหนดให้มีการปรับปรุงอำนาจศาลในการพิจารณาการร้องเพิกถอน การขายทอดตลาด รวมถึงการพิจารณาในประเด็นเรื่องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา, กำหนดให้มีการปรับปรุงอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีการบังคับคดีในหนี้กระทำการและหนี้งดเว้นกระทำการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์

"ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทรัพย์สินที่มีมูลค่าแต่ไม่มีรูปร่างที่ชัดเจน เช่น หุ้น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ