ส่วนกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้ จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากน้อยเพียงใดนั้น นายประสาร กล่าวว่า จากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบก็จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้มากขึ้น แต่หากเงินเฟ้อสูงกว่า 2.5% การดำเนินนโยบายทางการเงินก็จำเป็นต้องมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ที่ 2.5% ในช่วงคาดการณ์ 1-4% เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่ต่ำกว่า 1% แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงมาที่ปัจจุบันเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดย ธปท.ยังคงคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
“การกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวไม่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อนโยบายการเงิน แต่กำหนดเป็นกรอบเพื่อสร้างความโปร่งใส โดย กนง.จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ ดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 58 ไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิผล จากการประเมินของ กนง.เห็นว่าที่ผ่านมานโยบายการเงินมีความผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้การฟื้นตัวจะยังเป็นไปอย่างอ่อนแอ แต่ก็เห็นการสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย.ที่การบริโภคและการลงทุนด้านเอกชนยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับ ต.ค. แม้ว่าจะขยายตัวช้ากว่าที่คาด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลจนเกินไป
"การพิจารณานโยบายการเงินต้องมองภาพในระยะยาว พิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย อาทิ ประสิทธิภาพของภาคการเงิน สภาพเศรษฐกิจจริงในระยะยาว ซึ่งกรอบเงินเฟ้อจะเป็นแนวทางในการดำเนินการ หากเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าระดับ 2.5% นโยบายการเงินก็จะผ่อนคลาย แต่หากสูงกว่า 2.5-4% นโยบายการเงินก็จะเข้มงวดมากขึ้น"นายประสาร กล่าว