"นโยบายการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาฉบับเดิมที่จะหมดอายุลงอย่างทันท่วงทีจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมฯ"นายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าว
ปัจุจบัน SPP ที่มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ราว 6 พันเมกะวัตต์ โดยกลุ่มแรกที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าราว 1.8 พันเมกะวัตต์ จำนวน 25 โรง จะหมดสัญญาในช่วงปี 60-67 ขณะที่กลุ่มที่สอง มีขนาดกำลังผลิตรวม 1.7 พันเมกะว้ตต์ จะหมดสัญญาในช่วงปี 68-73 และกลุ่มทีสาม มีขนาดรวม 3.5 พันเมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า SPP แห่งแรกที่จะเริ่มหมดอายุสัญญาในปี 60 เป็นโรงไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.โกลว์ พลังงาน(GLOW)ขนาด 90 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ SPP กลุ่มแรกได้เริ่มทยอยเจรจากับภาครัฐเพื่อขอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาชุดเดิมที่จะหมดอายุลง(SPP Replacement)แล้ว เนื่องจากการจะติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม รวมถึงการเจรจาจนกว่าจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) น่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีครึ่ง
เบื้องต้นได้มีการเจรจาขอทำสัญญาใหม่เป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่เดิม ซึ่งจะทำให้สามารถลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยคาดว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าขนาด 120-140 เมกะวัตต์ จะลดลงเหลือราว 4.5 พันล้านบาท/โครงการ จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ราว 5 พันล้านบาท/โครงการ และจะทำให้ราคาขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐลดลงได้ราว 5-10 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบันที่กลุ่ม SPP ขายไฟฟ้าเฉลี่ยให้กับภาครัฐราว 3.40 บาท/หน่วย
พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาบรรจุแผนการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ในระยะยาวฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำด้วย หลังจากได้ทราบข้อมูลว่ามีการถอดการรับซื้อไฟฟ้า SPP ออกจากแผน ขณะที่แผน PDP ฉบับปัจจุบันมีสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ราว 10%
ด้านนางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า ปัจจบันมีผู้ประกอบการราว 30% ของภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่กับ SPP เดิมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในนิคมฯ และช่วยสร้างเสถียรภาพของโครงการในการได้รับสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร โดย SPP ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมฯ และกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเสนอขายให้กับ กฟผ. ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะขายให้กับลูกค้าในนิคมฯ รวมถึงมีการขายไอน้ำให้กับลูกค้าในนิคมฯด้วย
ขณะที่นายโทรุ นางาฮาตะ ประธานบริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ยี่ห้อ Dunlop กล่าวว่า การที่บริษัทเข้ามาสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ เพราะเห็นว่ามีระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร โดยเฉพาะเรื่องระบบไฟฟ้าและไอน้ำที่ซื้อโดยตรงจาก SPP ซึ่งช่วยสร้างเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าและไอน้ำที่จะลดความสูญเสียต่อกระบวนการผลิต และยังทำให้ต้นทุนลดลงด้วย