ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อบ้านปี 58 โตชะลอ แบงก์เข้มเหตุหนี้ครัวเรือนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 9, 2015 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 58 นั้นจะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงเลขสองหลัก โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ระดับ 8.5 - 9.5% (ค่ากลางที่ 9.0%) ซึ่งชะลอลงจากปี 57 ที่คาดโต 11% ตามผลของฐานที่สูงและการใช้นโยบายเครดิตที่ค่อนข้างระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม

การเติบโตของเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปี 58 นั้น น่าจะได้อานิสงส์จากที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จที่ยังทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม ซึ่งเมื่อผนวกกับระดับราคาขายเฉลี่ยต่อยูนิตที่ขยับขึ้นตามต้นทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แล้ว คงทำให้ผลด้านราคาต่อการกระตุ้นยอดเงินให้สินเชื่อบ้านในปี 58 ยังปรากฏขึ้นเช่นเดียวกับ 57 ที่ผ่านมา

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคบางส่วนที่ฟื้นตัวขึ้น ผนวกกับแรงกระตุ้นทางจิตวิทยาจากความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ช่วยหนุนการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือน คงต้องยอมรับว่าในช่วงปี 57 ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและเอื้อต่อการกู้ยืมของภาคครัวเรือน ขณะที่ ผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมทำให้กำลังซื้อสินค้าคงทนชิ้นใหญ่ ๆ อย่างบ้านลดทอนลง อย่างไรก็ดี เมื่อต่อภาพไปในปี 58 แล้ว เชื่อว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังทยอยปลดภาระหนี้รถยนต์ (สอดคล้องกับตัวเลขสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยอดคงค้างหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง)

อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากจังหวะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 58 ที่อาจขยายตัวได้สูงกว่าปี 57 ซึ่งเมื่อผนวกกับแรงกระตุ้นทางจิตวิทยาจากความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่แนวชายแดนที่อาจสร้างอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยในบริเวณเดียวกันแล้ว ก็คงกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมสูงและมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงที่อั้นมาตั้งแต่ปี 2557 ตามมาได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 58 คาดว่าแม้ธนาคารพาณิชย์จะคงยังใช้นโยบายเครดิตที่รัดกุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ด้านการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ แต่อุณหภูมิการแข่งขันของธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในภาพรวมจะร้อนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 ผ่านกลยุทธ์ด้านราคาและการเจาะฐานลูกค้าศักยภาพ โดยคาดเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีทิศทางที่ระมัดระวัง ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมในระดับสูง ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มจะกลับมาทำการตลาดมากขึ้นในปี 58 เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ด้วยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสะสมในระดับสูงยังคงมีผลให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ที่ค่อนข้างรัดกุม และการกำหนด LTV Ratio ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้า และเข้มงวดขึ้นในกลุ่มที่ขอสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในจังหวะที่สินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายการจับมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะเป็นกลยุทธ์หลักของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 58 นี้ คงเห็นการจัดเจ้าหน้าที่สินเชื่อเข้าประจำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อแนะนำข้อมูลต่าง ๆ แก่ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่ค่อนข้างระมัดระวังการนำเสนอสินเชื่อ เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และสามารถจัดสรรแคมเปญที่โดยเฉพาะเจาะจงให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งได้ โดยตลาดลูกค้าหลักที่ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของธนาคารพาณิชย์ ยังคงอยู่ที่กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบนตลาดที่อยู่อาศัยในแถบชานเมืองกรุงเทพฯ จากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าของทางการ และตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการค้าชายแดน

ขณะที่ แคมเปญค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 58 นั้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์คงจะนำเสนอทั้งแคมเปญด้านราคา และแคมเปญค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อจูงในให้ลูกค้าเลือกใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารของตน และเพื่อต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ของธนาคารพาณิชย์ โดยน่าจะเห็นแคมเปญดอกเบี้ยต่ำระยะเวลาหนึ่งที่หนาแน่นขึ้นเพื่อเจาะฐานลูกค้าศักยภาพ ส่วนแคมเปญด้านค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ฟรีค่าสำรวจและประเมินหลักประกัน ฟรีค่าการทำนิติกรรมสัญญาฯ อาจจะไม่ได้แตกต่างจากปีก่อนมากนัก

อย่างไรก็ดี จุดสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คงได้แก่ ทิศทางการเข้ามาให้บริการลูกค้าระดับกลางของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งระดับราคาที่อยู่อาศัยเป้าหมายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ราว 2.0 - 2.5 ล้านบาท อันถือเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมเน้นที่ระดับไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพราะอาจนำมาสู่การแข่งขันแคมเปญดอกเบี้ยที่ทวีความเข้มข้นขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อจุดยืนทางการตลาดและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อของแต่ละธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ