สำหรับเอสเอ็มอีที่สามารถยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการจะต้องเป็นกิจการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท(ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3 ต่อ 1 โดยเมื่อรวมกิจการทั้งหมดทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับส่งเสริมต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิ หรือเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท
สำหรับประเภทกิจการเอสเอ็มอีไทยที่บีโอไอให้การส่งเสริม มีจำนวนทั้งสิ้น 38 ประเภทกิจการ ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ, ปุ๋ยอินทรีย์, กิจการเลี้ยงสัตว์หรือสัตว์น้ำ(ยกเว้นกุ้ง), กิจการผลิตผลิตภัณฑ์แก้ว หรือเซรามิกส์, กิจการผลิตเครื่องดนตรี, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กหรือชิ้นส่วนเหล็ก, กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ, กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะอื่นๆ, กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน, กิจการผลิตยา, กิจการศูนย์บริการโลจิสติกส์, กิจการสร้างภาพยนตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ กิจการเอสเอ็มอีไทยที่ได้รับส่งเสริมจะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีสูงกว่าเกณฑ์ปกติ โดยจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 2-8 ปี จากปกติที่บางกิจการไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 2 ปี หรือบางกิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย บีโอไอยังมีนโยบายสนับสนุนกิจการเอสเอ็มอีไทยให้ลงทุนเพิ่ม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1-3 ปี หากมีการลงทุนเพิ่มในด้านต่างๆ อาทิ การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนกองทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร หรือสถาบันการศึกษา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาจากแหล่งในประเทศ การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ หากเอสเอ็มอีไทยจะตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 20 จังหวัดรายได้น้อย อาทิ กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, นครพนม, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, แพร่ เป็นต้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้ กิจการเอสเอ็มอีไทยที่ได้รับส่งเสริมตามมาตรการนี้ ยังสามารถใช้เครื่องจักรที่ใช้แล้วในประเทศได้ในมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท