นายกฯ สั่งทีมโฆษกรุกประชาสัมพันธ์งานรัฐบาลให้ภาคเอกชนทราบต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 13, 2015 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกทุกกระทรวง จัดการประชุมเพื่อเพิ่มการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เกี่ยวกับงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมภาคธุรกิจวานนี้ ซึ่งมีงานบางเรื่องที่เอกชนยังไม่ได้รับรู้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว

อย่างไรก็ดี การพูดคุยกับภาคธุรกิจเมื่อวานนี้(12 ม.ค.) นายกรัฐมนตรี ระบุว่าถือเป็นความก้าวหน้าในการสร้างการรับรู้งานที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว และรับรู้ถึงปัญหาที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไข เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ลดขั้นตอนและลดระยะเวลาในการทำงาน ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงบประมาณภาครัฐ ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ(กบจ.) ของแต่ละจังหวัดในการเร่งรัดการทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ เช่นโครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการสาธารณูโภคต่างๆ ให้เกิดขึ้นให้ได้ และจะมีการแก้ไขกฏหมายที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้สั่งการให้ทุกกระทรวงไปตรวจสอบกฏหมายต่างๆว่าควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ และหลังจากนี้ทางรัฐบาลจะหาเวลาประชุมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อติดตามงานด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาทั้งระบบเหมือนกับการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพง ซึ่งรัฐบาลจะหารือกับ 3 ประเทศผู้ผลิตหลัก คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้น พร้อมทั้งจะนำแนวคิดของประเทศมาเลเซียที่ส่งเสริมให้ชาวสวนยางหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นมาใช้ เพื่อส่งเสริมการทำไบโอดีเซล และลดต้นทุนการนำเข้านำมันจากต่างประเทศ

ส่วนปัญหาราคายางตกต่ำนั้น มองว่าเป็นเพราะผลผลิตยางพาราที่ล้นตลาด จากเดิมปลูกอยู่ 7 ล้านไร่เป็น 11 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากการส่งเสริมจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และเป็นผลจากการแข่งขันยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางประเทศมีค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศไทย จึงทำให้ประเทศที่สนใจจะลงทุนธุรกิจยางพาราหันไปยังลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการให้สมาคมทุกสมาคมรวมกลุ่มและขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพราะหากรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับทุกกลุ่มที่เดือนร้อนคงจะไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณประมาณที่จำกัดและไม่มีช่องทางใหม่ๆ ที่จะหารายได้เข้าประเทศ และสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างความมีเสถียรภาพในประเทศ เพื่อให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและหันมาลงทุนในประเทศมากขึ้น

ส่วนกรณีปัญหาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดที่จะยุบธนาคารอิสลามฯ เพราะเห็นว่า เป็นธนาคารที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับคนไทยมุสลิม ซึ่งรัฐบาลพยามหาแนวทางแก้ไขแก้ไขปัญหาหนี้เสีย โดยการตั้งคณะกรรมการบริหารหนี้ จัดทำงบดุลใหม่และหาเงินทุนเพิ่ม ซึ่งปัญหานี้อยู่ทางคณะกรรมนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขปัญหา และมีการรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ