สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ประกอบด้วยแผนงานหลัก 6 แผนงาน ได้แก่
1. การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง
2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง
3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS)
4. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง
6. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม National Plan of Action – IUU (NPOA-IUU)
แผนงานดังกล่าวข้างต้นจะสามารถครอบคลุมการแก้ไขปัญหาและการป้องกันการทำประมง IUU ของเรือประมงไทยทั้งภายในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันสินค้าสัตว์น้ำ IUU จากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยด้วย
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ของไทยนั้น มีการบูรณาการในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกองทัพเรือ ศร.ชล กรมศุลการกร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสมาคมประมงท้องถิ่น 22 จังหวัดชายทะเล และสมาคมภาคเอกชนต่างๆ
"กระทรวงเกษตรฯ และกรมประมง เชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การปลดใบเหลืองของ EU ออกจากประเทศไทย และภาคการประมงของไทยปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้ในอนาคต" รมว.เกษตรฯ กล่าว