"เป็นอำนาจรัฐบาลสามารถพิจารณาเดินหน้าต่อได้ แต่เรื่องนี้จะขอทบทวนและขอดูรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรจาก สปช.ก่อน ไม่ถึงกับตีตก แต่เป็นการท้วงติงด้านวิธีการ"นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรก็จะมีการชี้แจงกลับไปยัง สปช.เพื่อให้นำไปทบทวนตามกฎหมายที่ระบุไว้ว่าเป็นอำนาจที่รัฐบาลดำเนินการได้เอง เพียงแต่ตามมารยาทก็ควรส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาก่อน ส่วนจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรขึ้นอยู่กับรัฐบาลตัดสินใจว่าจะดำเนินการรือไม่
อนึ่ง กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง โดยให้ยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้
ขณะที่นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรมต.ประจำกระทรวงพลังงาน ระบุว่ารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยมองในทิศทางเดียวกันว่าสปช.ไม่ได้คัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกมธ.ตามข้อเสนอ แต่อาจจะเห็นด้วยกับแนวทางเลือกอื่นๆที่มีผู้เสนอเข้ามาด้วยเช่นกัน
"เรื่องที่ สปช.ให้ความเห็นจากการประชุมเมื่อวานนี้ แล้วจะนำเสนอรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ยังไม่ทราบ...79 เสียงเห็นด้วย อีก 130 เสียงบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ไปเห็นด้วยกับทางเลือกอื่นๆซึ่งมี 3-4 ทางเลือก"นายพรายพล กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
เมื่อวานนี้ สปช.มีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่กมธ.ปฏิรูปพลังงาน เสนอสมาชิก โดยได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ก่อนจะลงมติไม่เห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากที่มีข้อสรุปให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยคะแนนเสียง 130 ต่อ 79 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง
เนื่องจากมองว่ารายงานฉบับนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะมีแต่บุคคลากรที่ทำงานด้านพลังงานทั้งนั้น และการพิจารณาในเรื่องนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงควรชะลอการเปิดสัมปทานออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำตอบถึงผลดีผลเสีย และผลกระทบที่ชัดเจน ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้ส่งข้อเสนอและข้อสังเกตของสมาชิกไปให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาด้วย
นายพรายพล กล่าวอีกว่า กมธ.ปฎิรูปพลังงาน ที่เสนอให้สภาฯพิจารณาเปิดสัมปทานรอบ 21 ต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ศึกษาการจัดเตรียมระบบการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อพร้อมที่จะใช้ในอนาคต ซึ่งมีเสียงเห็นด้วย 79 เสียง ส่วนอีก 130 เสียงบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ไปเห็นด้วยกับทางเลือกอื่นๆ ซึ่งมี 3-4 ทางเช่นกัน
เช่นแนวทางเลือกของนางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่ให้หยุดการเปิดสัมปทานดังกล่าว และหันมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต รวมถึงให้ภาครัฐเข้าไปสำรวจก่อน ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งของนายอลงกรณ์ พลบุตร เห็นว่าการเปิดสัมปทานควรแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการให้สัมปทานการสำรวจ และหากพบปิโตรเลียมก็จะมาตกลงการให้สัมปทานการผลิตว่าจะเป็นรูปแบบใดระหว่างการให้สัมปทาน หรือการแบ่งปันผลผลิต หรือบางรายเสนอให้มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม แต่มีข้อจำกัดของแปลง
"ก็มีทางเลือก 3-4 แนวทางเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่ง 130 เสียงที่โหวตให้ทางเลือกเหล่านี้ เลยไม่รู้ว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทางเลือกของใคร...มติบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอของ กมธ. ซึ่ง กมธ.บอกว่าให้เปิด แต่เสียงที่ไม่เห็นด้วย คือเห็นด้วยกับทางเลือกอื่นๆ ไม่ใช่มติที่ไม่ให้เปิด"นายพรายพล กล่าว