เครือข่ายภาคสังคมค้านชุดกม.เศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ละเมิดสิทธิ-ผูกขาดทรัพยากร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต พร้อมด้วย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย,มูลนิธิโลกสีเขียว ,FTA Watch กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ,มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ,สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบแล้วและกำลังจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โดยเห็นว่าชุดกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพในหลายด้าน ผูกขาดทรัพยากร และไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เป็นการใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของรัฐ

ทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในร่างกฎหมายที่ให้อำนาจภาครัฐมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร สัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตัดกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพและผู้แทนภาคประชาชนออกไปและแทนที่ด้วยกรรมการจากฝ่ายความมั่นคง ขณะที่ไม่พูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การรับประกันการเข้าถึงโดยผู้ด้อยโอกาสในสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกต่อไป อีกทั้งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรกำกับ แต่กลับสร้างองค์กรที่อาจมีปัญหาแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ กระบวนการเสนอกฎหมายยังทำไปด้วยความรวบรัด ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งการเสนอร่างกฎหมายในวันที่ 6 ม.ค.58 เป็นการเสนอในวาระจร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐเองไม่ได้รับทราบรายละเอียดในการเสนอกฎหมายดังกล่าว

เครือข่ายภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกต ดังนี้ 1. ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล" แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง

2. เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กสทช. เป็นการถือโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือภาครัฐและกองทัพ ซึ่งจะกลับไปเหมือนในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายชุดนี้ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม จนกล่าวได้ว่าเป็นกฏหมายเพื่อ“เศรษฐกิจและกองทัพ"

3. ร่างพ.ร.บ.กสทช.ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.

4. ที่ผ่านมาภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่า กสทช.จำเป็นต้องพัฒนาระบบธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ แต่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว และยังมีร่างกฎหมายใหม่อีกหลายฉบับที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารลักษณะคล้ายกันขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

5. กองทุนที่มาจากรายได้ของ กสทช. ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วัตถุประสงค์เดิมในการเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ได้หายไปหมด และกลายสภาพเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม

6. ร่างกฎหมายหลายฉบับ ไม่ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างที่อ้าง อีกทั้งคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระทบการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร

7. ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการตัดกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง

8. ความไม่ชัดเจนของสถานะทางกฎหมายของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็น“หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ"ว่าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะรวบรวมข้อมูลข้างต้น เสนอไปยัง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.), คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเบื้องต้นจะยื่นหนังสือไปยัง สปช.ภายในสัปดาห์นี้


แท็ก การค้าเสรี   FTA  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ