นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การริเริ่มระบบ ป้าย
ข้อมูลรถยนต์ (Eco Sticker) ในประเทศไทย ร่วมกับการเริ่มใช้โครงสร้าง
ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีจาก รถยนต์ที่มีขนาด “ซี.ซี.ต่ำ-แรงม้าน้อย” มาเป็นรถยนต์ที่มี “ความสะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2559 ถือเป็นพลวัตทางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญ ที่นอกจากจะแก้ไขปัญหาการบิดเบือนโครงสร้าง
ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บ
ภาษีรถยนต์ และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์โลกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีอัตราการประหยัดพลังงานที่ดีขึ้น มีสมรรถนะด้านความปลอดภัยที่ดีขึ้น และปล่อยมลพิษลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้บริโภคสามารถรับทราบและเปรียบเทียบ
ข้อมูลคุณสมบัติของรถยนต์เหล่านี้ได้จาก Eco Sticker นี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อรถยนต์
ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะแสดงบน Eco Sticker ของรถยนต์แต่ละคัน จะประกอบด้วย อัตราการใช้เชื้อเพลิงอ้างอิงเปรียบเทียบ และอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ที่วัดตามมาตรฐานสากล (ของ United Nation)
UN ECE Reg.101 มาตรฐานความปลอดภัยของระบบเบรก ที่วัดตามมาตรฐานสากล UN ECE Reg.13H มาตรฐานความปลอดภัยผู้โดยสารในกรณีที่เกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง ที่วัดตามมาตรฐานสากล UN ECE Reg.94 และ 95 รวมถึงข้อมูลพื้นฐานของรถยนต์แต่ละคัน
ปัจจุบันระบบ Eco Sticker เป็นกลไกที่ประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ชั้นนำเกือบทุกประเทศ นำมาใช้ในการให้ข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบของรถยนต์เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย และมีใช้อยู่อย่างแพร่หลายในประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ บราซิล อินเดีย จีน และอีกหลายประเทศ ซึ่งจะรวมถึงประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--