PwC แนะไทยหาพันธมิตรท้องถิ่นหลังเปิด AEC ลดความเสี่ยง-ปิดช่องโหว่-ต่อยอดธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2015 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (ประเทศไทย) หรือ PwC ไทย เปิดเผยว่า การที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสในการการขยายธุรกิจไปยังตลาดเพื่อนบ้านเช่นกัน ซึ่งการหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ใช่จะช่วยต่อยอดในการเข้าถึงตลาดและกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วขึ้น โดยมองว่า ในปีนี้จะเริ่มเห็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับบริษัทข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ในส่วนของประเทศไทย การหาพันธมิตรท้องถิ่นในต่างประเทศ จะช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการฯที่กำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดที่ไม่คุ้นเคยได้เช่นกัน

"หากผู้ประกอบการรายใด สามารถหาพันธมิตรที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน (Know-How) หรือมีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและปิดช่องโหว่ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ"

พร้อมกันนี้ PWC ได้เปิดผลสำรวจ Presence to Profitability ระบุว่า ปัจจุบันตลาดที่กำลังเติบโต (Growth Market) เช่น กลุ่ม BRIC ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน รวมถึงประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย ไนจีเรีย เม็กซิโก ตุรกี และ พม่า กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติในการขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดดังกล่าว

แต่เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ อย่างของประเทศในกลุ่มตลาดที่กำลังเติบโตเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ช่องทางการตลาด ฯลฯ ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ดังนั้น กุญแจสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจประสบผลสำเร็จและทำกำไรในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ คือ การหาพันธมิตรท้องถิ่น (Local Partner) ที่มีความชำนาญในตลาดนั้น

“การหาพันธมิตรต่างชาติที่มีความชำนาญในท้องถิ่น ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่บริษัทในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการขยายเข้าสู่ตลาดใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ประกอบในภูมิภาคที่กำลังเติบโต ที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดเพื่อนบ้านอีกด้วย” นายศิระกล่าว

นายศิระ กล่าวว่า บริษัทข้ามชาติที่ขยายการลงทุนไปในตลาดที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มักต้องอาศัยพันธมิตรท้องถิ่นมากกว่าในยามที่ขยายการลงทุนในตลาดภายในประเทศของตนเอง ส่งผลให้อำนาจในการควบคุมสินค้า และช่องทางการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการบริษัทข้ามชาติลดลง ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทฯเหล่านี้ต้องมีพันธมิตรท้องถิ่น เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจตลาด คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรม โครงสร้างองค์กรในท้องถิ่น ข้อกฎหมาย และรู้ช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดีกว่าบุคคลภายนอก ซึ่งถือป็นจุดเด่นที่จะช่วยสร้างกำไรให้บริษัทข้ามชาติได้

นายศิระ กล่าวต่อว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้มีการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังเติบโตบางประเทศเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีน แต่ยังเชื่อว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของตลาดที่กำลังเติบโตจะยังเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว ซึ่งจากประมาณการณ์ของ IMF พบว่า จีดีพีของตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ จะมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 60% ของจีดีพีโลกภายในปี 2561 ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดกำลังพัฒนาดังกล่าว

นอกจากนี้ ข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติที่มีความซับซ้อนและเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องปฏิบัติกฎระเบียบทางการเงิน (Financial Compliance) และการบริหารจัดการท้องถิ่น ยังทำให้ผู้ประการเหล่านี้ หันมาทำข้อตกลงกับผู้กระจายสินค้า หรือบุคคลที่สาม (Arm’s Length Agreement) แทน เพื่อลดความเสี่ยงจากข้อกฎหมาย ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการต้องพันธมิตรที่มีความเข้าใจในกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย และสนธิสัญญาการค้าต่างๆ มากกว่าบริษัทข้ามชาติ

นายศิระ กล่าวว่า กลยุทธ์การกระจายสินค้าจะกลายเป็นกุญแจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังวางแผนขยายกำลังการผลิตในอนาคตมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด (Original Equipment Manufacturer: OEM) และซับพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายสายการผลิตเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกามากขึ้น ในขณะเดียวกันที่ลดกำลังการผลิตในตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปและออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม แม้การหาพันธมิตรจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจในต่างแดน แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ต้องตระหนักว่า พันธมิตรอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือต้องหาพันธมิตรเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความหมาะสมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเวลานั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการความเสี่ยงนี้ไว้แต่เนิ่นๆ


แท็ก อาเซียน   (AEC)   PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ