"ล่าสุดทางการเกาหลีใต้ประกาศห้ามนำเข้าไก่มีชีวิตและไก่สด แช่เย็น แช่แข็งจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.57 เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ส่งผลให้เกาหลีใต้จำเป็นต้องพึ่งการนำเข้าจากบราซิลแทบทั้งหมด จากเดิมนำเข้าไก่จาก บราซิลและสหรัฐอเมริกาเกือบ 95% ของการนำเข้ารวม ขณะที่ทั้ง 2 ประเทศมีระยะทางการขนส่งมาตลาดเกาหลีใต้ ใช้เวลาในการขนส่งทางเรือประมาณ 40 วัน ส่งผลให้ค่าขนส่งและค่าจัดเก็บสินค้าสูง ดังนั้นหากเกาหลีใต้เปิดตลาดไก่ให้กับไทยจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดไก่สดของไทยมายังตลาดนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยส่งไก่มายังเกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 10 วันทำให้ประหยัดค่าขนส่งและค่าจัดเก็บสินค้า" นางนันทวัลย์กล่าว
ในช่วงปี 2554-2556 เกาหลีใต้นำเข้าไก่สด แช่เย็น แช่แข็งโดยเฉลี่ยประมาณ 114,000 ตันต่อปี และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 57นำเข้าเป็นปริมาณทั้งสิ้น 112,510 ตัน มูลค่า 225.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8% โดยนำเข้าจากบราซิล (55.54%), สหรัฐฯ (38.21%) และ เดนมาร์ค (5.7%) เป็นหลัก ในปี 58 คาดว่าการบริโภคไก่ในเกาหลีใต้จะอยู่ที่ประมาณ 864,000 ตันเพิ่มจากปีนี้ประมาณ 1.5% โดยจะเป็นการบริโภคไก่ที่ผลิตได้ในประเทศจำนวนประมาณ 749,000ตัน และไก่นำเข้า ประมาณ 115,000 ตัน
นายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่าประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกหลักมายังเกาหลีใต้ โดยในปี 46 ไทยส่งไก่สดแช่เย็นแช่แข็งมาทั้งสิ้น 42,580 ตัน มูลค่า 56.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ได้หยุดการส่งออกมาตลาดนี้ตั้งแต่ปี 47 ดังนั้นหากเกาหลีใต้จะเปิดตลาดไก่สดให้กับไทยเมื่อใด ก็จะเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับสินค้าไก่ของไทยอีกตลาดหนึ่ง
สำหรับขั้นตอนต่อไปอยู่ในขั้นตอนที่ 6 กระทรวงเกษตรป่าไม้ฯของเกาหลีใต้จะส่งร่างข้อบังคับในการปฏิบัติเพื่อตรวจสอบและควบคุมโรคสัตว์ ซึ่งจะกำหนดลักษณะการปลอดโรควิธีการตรวจสอบโรคลักษณะรายละเอียดที่จะต้องระบุในใบอนุญาตส่งออกและข้อบังคับอื่นๆที่ไทยจะต้องนำไปปฏิบัติเพื่อให้สามารถส่งออกไก่ฯ มายังเกาหลีใต้โดยส่งให้กรมปศุสัตว์ของไทยพิจารณาและร่วมหารือเพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกันในข้อปฏิบัติต่างๆต่อไป
จากนั้นขั้นตอนที่ 7 กระทรวงเกษตรฯนำร่างข้อบังคับตามข้อ 6 เผยแพร่ใน Korean Official Gazette เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่ประกาศใช้บังคับจริง และสุดท้าย การดำเนินการให้การรับรองสถานประกอบการเช่นโรงเชือดและโรงชำแหละไก่ ฯลฯ เพื่อการผลิตและส่งออกไก่มายังเกาหลีใต้และการกำหนดรูปแบบใบรับรองปลอดโรคสัตว์ (QuarantineCertificate Form) ที่จะใช้ประกอบการส่งออกต่อไป