ทั้งนี้ แนวเส้นทางสายสีส้มที่ปรับเปลี่ยนจะเป็นส่วนของเฟสที่ 1 (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 วงเงินประมาณ 110,325.76 ล้านบาท จากเดิมที่ช่วงดินแดงจะเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วจึงเบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 ที่หน้า รฟม. และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหงนั้น จะปรับเป็นใช้แนวถนนดินแดงจนถึงถนนพระราม 9 โดยใช้สถานีพระราม 9 เป็นตัวเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีพระราม 9 ทำให้สายสีส้ม เฟส1 จะเริ่มต้นจากพระราม 9-มีนบุรี ซี่งการปรับแนวเส้นทางดังกล่าวทำให้ระยะทางสั้นลง และเส้นทางเป็นแนวตรงค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนลดลงรวมประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 (ตะวันตก) จะเป็นช่วงตลิ่งชัน-พระราม 9 จากเดิม คือช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม
นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติเห็นชอบให้ยุบรวมสถานีรางน้ำและสถานีราชปรารภของรถไฟฟ้าสายสีส้ม เฟส 2 (ตะวันตก) ซึ่งมีปัญหาเนื่องจากต้องเวนคืนตึกแถวจำนวน 50 ห้อง ซึ่งผู้ถูกเวนคืนเรียกร้องค่าชดเชยสูงถึง 50 ล้านบาทต่อห้อง ซึ่งการยุบรวมเหลือสถานีเดียวนั้นจะเหลือสถานีราชปรารภไว้ โดยขยับแนวที่ตั้งอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่สถานีมักกะสัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ทำให้ค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนลดลงรวมอีกประมาณ 3,170 ล้านบาท
พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า บอร์ดยังได้รับทราบผลการเจรจาค่าตอบแทนผู้ว่าฯรฟม.คนใหม่ที่อัตรา 3.4 แสนบาทต่อเดือน โดยนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าฯ รฟม.ได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ โดยในต้นสัปดาห์นี้ รฟม.จะเสนอผลการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.ไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอครม.เห็นชอบต่อไป เชื่อว่าผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่จะสามารถเริ่มทำงานได้ภายในเดือนก.พ.นี้