"เราจะลดการใช้จาก B7 ลงมาเหลือระดับ 3.5% เป็นช่วงสั้นๆ เมื่อน้ำมันปาล์มในประเทศมากพอก็จะขยับขึ้นกลับไปสู่ระดับปกติ"แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
แหล่งข่าวรายเดิม คาดว่า การปรับลดระดับการใช้ไบโอดีเซลดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันราคาไบโอดีเซลหน้าโรงสกัดจะอยู่ที่ราว 38 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาดีเซลหน้าโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่ราว 15 บาท/ลิตร เมื่อลดปริมาณไบโอดีเซลลง ก็จะทำให้ต้นทุนรวมของการผลิตน้ำมันดีเซลลดลงราว 0.80 บาท/ลิตร แต่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะลดลงได้สัดส่วนเท่าใดนั้นยังต้องขึ้นกับราคาตลาดโลกในขณะนั้นด้วย
ทั้งนี้ การลดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ขณะเดียวกันคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.)ที่ประชุมเช้านี้ยังเห็นชอบให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบล็อตแรก 5 หมื่นตันเพื่อป้องกันปัญหาขาดตลาด โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันพรุ่งนี้
สำหรับการตรวจสต็อกน้ำมันปาล์มดิบล่าสุดเมื่อวันที่ 9-11 ม.ค.พบว่ามีสต็อกเหลืออยู่ 113,734 ตัน ซึ่งต่ำกว่าปกติที่ควรอยู่ระดับ 2 แสนตัน ส่วนการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบล็อตแรกคงจะเริ่มได้ในเดือน ก.พ.ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ 1.3 แสนตัน แบ่งเป็น การบริโภคและอุตสาหกรรม 8 หมื่นตัน และผลิตไบโอดีเซล 5 หมื่นตัน ขณะที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในเดือน ม.ค.จะอยู่ที่ 102,515 ตัน จึงคาดการณ์ปริมาณสต็อกในเดือน ม.ค.จะอยู่ที่ระดับ 81,249 ตัน
ขณะที่การใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลที่ระดับ 3.5% ได้ตามแผนทั้งเดือนก.พ.ก็จะทำให้ลดการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตเป็นไบโอดีเซลเหลือเพียง 3 หมื่นตัน เมื่อรวมกับชปริมาณผลผลิตและการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบตามแผนที่ 5 หมื่นตัน ก็จะทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 126,875 ตัน และคาดว่าในเดือนมี.ค.สต็อกน้ำมันปาล์มดิบจะเพิ่มเป็น 179,279 ตัน ก่อนที่ผลผลิตปาล์มจะเริ่มกลับสู่ปกติ ก็น่าจะทำให้สต็อกน้ำมันในเดือนเม.ย.กลับมาอยู่ที่ 211,735 ตัน ซึ่งน่าจะทำให้กลับมาใช้ B7 ได้เช่นเดิม