ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดกนง.นัดแรกของปีคงดอกเบี้ยรอติดตามศก.ฟื้น-ปัจจัยตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 20, 2015 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00%ต่อเนื่องในการประชุมรอบแรกของปี ในวันที่ 28 ม.ค.58 เพื่อรอดูพัฒนาการของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย หลังจากที่โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มปรากฏให้เห็นขึ้นบ้างในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้ กนง. ไม่ต้องรีบตัดสินใจดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมรอบนี้

ทั้งนี้ ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณในการฟื้นตัวขึ้นบ้าง โดยในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน นำโดยการบริโภคสินค้ากลุ่มไม่คงทน อันเป็นผลจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคการเกษตรที่ยังดีอยู่ สำหรับด้านการลงทุนภาคเอกชนนั้น ความพยายามในการผลักดันการลงทุนของภาครัฐผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ น่าจะช่วยเหนี่ยวนำการลงทุนของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ให้ทยอยกลับมามากขึ้น

สำหรับประเด็นด้านเสถียรภาพนั้น แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศจะคลายตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของทางการ จึงยังไม่มีความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในขณะนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 58 โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ค่าเฉลี่ยรายปี 2.5% และมีกรอบการเคลื่อนไหวขึ้นลง (+/-) ไม่เกิน 1.5%

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงต่อเนื่องโดยในเดือน ธ.ค.57 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 62 เดือน ที่ 0.6 %YoY ตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลต่อนัยในการดำเนินนโยบายการเงินมากนัก เนื่องจากปัจจัยที่กดดันเงินเฟ้อเป็นผลจากด้านอุปทาน (จากการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อธิบายถึงปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ดีกว่ายังคงให้ภาพที่ทรงตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในปี 58 น่าจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายอยู่ โดยคาดว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปปี 58 คงมีช่วงการเคลื่อนไหวที่ 1.0-2.2% เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ของ ธปท. ที่ 1.0-4.0% (หรือ 2.5% +/- 1.5%)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.ยังคงต้องจับตาความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยคงเห็นสัญญาณการเร่งตัวขึ้นในเกือบทุกกลไกหลัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% แต่ ธปท.คงจะจับตาพัฒนาการของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด

อาทิ การใช้จ่ายของภาครัฐ คงต้องติดตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลว่าสามารถทำได้ตามเป้าหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน 4.49 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกของปีงบประมาณอาจจะยังต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการทำสัญญาและเริ่มเบิกจ่าย การฟื้นตัวของภาคการบริโภคว่าจะมีความชัดเจนเพียงใด แม้ว่าจะเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้น กอปรกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงน่าจะช่วยสร้างอานิสงส์ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม กลไกการส่งผ่านผลที่เกิดขึ้นไปยังราคาสินค้าอื่นๆที่จะช่วยเกื้อหนุนการบริโภคอาจยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนนักในขณะนี้

ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการบริโภคยังน่าจะถูกกดดันจากระดับหนี้ภาครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำอาจจะส่งผลต่อการบริโภคในต่างจังหวัด และการฟื้นตัวของภาคการส่งออกว่าจะขยายตัวได้มากเท่าใด โดยภาคการส่งออกอาจจะได้รับแรงกดดันจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ รวมทั้ง ผลของการสิ้นสุด GSP ยุโรป ที่อาจกระทบความต้องการสินค้าไทยของผู้นำเข้ายุโรป

ขณะที่ประเด็นด้านต่างประเทศซึ่งอาจกระทบต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินโลกเป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ และเหตุการณ์ในต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศเพิ่มขึ้น ก็ยังมีโอกาสที่ กนง. อาจจะพิจารณาทางเลือกในการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ