กรณีของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น พบว่า ณ สิ้นปี 57 เงินบาทของไทยอ่อนค่าเล็กน้อยเพียง 0.49% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 56 หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นๆ อ่อนค่าลงไปมากกว่า เช่น ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่าลง 6.28% ดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่าลง 4.41% ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ อ่อนค่าลง 4.23% และเงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลง 11.86% ขณะที่ค่าเงินยูโร อ่อนค่าลงถึง 13.07% และยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ยกเลิกกำหนดค่าเงินฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งส่งผลให้เงินฟรังก์แข็งค่าขึ้นได้อย่างเสรี
นอกจากนี้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียยังเคลื่อนไหวผันผวนมากจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลง และวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าไปถึง 43.33% ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาไทยที่มากเป็นอันดับ 3 รองจากนักท่องเที่ยวจีน และมาเลเซีย โดยนักท่องเที่ยวรัสเซียมีส่วนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวไทยถึง 10%
ส่วนกรณีที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกรกร(GSP) นั้น จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ในเบื้องต้นมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบต่อการส่งออกเป็นมูลค่าประมาณ 6,700 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าไทย 5 อันแรกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กุ้งปรุงแต่ง, ยานยนต์ขนส่ง, ยางรถยนต์, เลนส์แว่นตา และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปโดยเร็ว แม้ขณะนี้สหภาพยุโรปจะงดการเจรจาระดับนโยบายกับรัฐบาลของไทย แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถเจรจาข้อมูลด้านเทคนิคต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าได้
ขณะที่กรณีสถานการณ์ราคาน้ำมัน แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนการผลิตลงได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ในทางกลับกันประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก จะมีกำลังซื้อที่ลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการของไทยควรเร่งมองหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดปัจจุบันที่มีกำลังซื้อลดลง โดยเน้นกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ราคาน้ำมันลดลง เช่น ประเทศที่นำเข้าน้ำมัน เป็นต้น
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ประการต่อการส่งออกไทย ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือใน 4 ด้านหลัก คือ 1.การพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้า ทั้งในด้านคุณภาพ กระบวนการผลิตที่ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) จากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนด้วย
2.การพัฒนาผลิตภาพการผลิต ซึ่งพบว่าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตร เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม และใช้แรงงานคนจำนวนมาก ดังนั้นทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรของไทยนับจากนี้จะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการปลูก บำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยวที่ทันสมัย และสามารถนำเครื่องจักรมาใช้ในการทำการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3.การพัฒนาประสิทธิถภาพห่วงโซ่คุณค่า เป็นการพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอด Value Chain เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เช่น ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยการแปรรูปวัตถุดิบหรือสินค้าเกษตรขั้นต้นให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้แก่เกษตรกรอีกทาง
และ 4.การพัฒนาสร้างตราสินค้าไทย ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะเป็นการสร้างความยั่งยืนและสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้แก่สินค้าไทย และให้แบรนด์สินค้าของไทยก้าวไปสู่ Thailand Brand, ASEAN Brand และ Global Brand ที่สามารถตอบรับความต้องการของผู้บริโภคได้ในทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง
นายวิชัย กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ประธานกรรมการหอการค้าไทยจะนำคณะไปพบกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อขอให้ช่วยบริหารจัดการในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่แข่งขัน โดยยืนยันว่าไม่ได้ต้องการไปขอให้แบงก์ชาติช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าขึ้นแต่อย่างใด
"เราไม่ได้ทิ้งหลักการเดิม คือไม่ได้บอกว่าจะให้อ่อนหรือแข็ง แต่ต้องบริหารให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ไม่หวือหวา และต้องดูเรื่องการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งด้วย โดยบริหารให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่แข่ง เรายังยืนอยู่ใน 2 หลักการว่า ไม่ได้ขอให้บาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออก หรือขอให้บาทแข็งเพื่อช่วยผู้นำเข้า" นายวิชัย กล่าว