แต่หากภาครัฐตัดสินใจใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในรอบที่ 21 นี้ ก็ต้องรีบเร่งให้เกิดความพร้อมโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของพลังงานได้ เนื่องจากขณะนี้บริษัทที่ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจำเป็นต้องเจาะหลุมเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ปริมาณเท่าเดิมถึงปีละ 300-400 หลุม จากเดิมที่เคยเจาะเพียง 100-200 หลุมต่อปี ชี้ให้เป็นว่าการไหลของก๊าซธรรมชาติในแหล่งที่มีอยู่ช้าลงมาก เป็นการยืนยันการคาดการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติว่าจะเริ่มลดน้อยลงในเร็ววันนี้
ขณะที่ระยะเวลาในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมนั้นยาวนานมาก ตั้งแต่เริ่มการขุดเจาะสำรวจจนถึงวันแรกที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์อาจใช้เวลาถึง 10 ปี ดังนั้น การชะลอการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ออกไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า
ส.อ.ท.ระบุอีกว่า ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตยังมีการใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่จะทำให้ชี้ชัดได้ว่าระบบใดเหมาะสมกับประเทศใด หรือแหล่งปิโตรเลียมประเภทใดเป็นการเฉพาะ โดยทั้งสองระบบสามารถดัดแปลง ออกแบบ ปรับปรุงให้มีเงื่อนไขที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อทั้งฝ่ายเจ้าของทรัพยากรและฝ่ายผู้ลงทุน แต่ที่เป็นความชัดเจน คือ หากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ภาครัฐต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการตัดสินใจในการผลิตอย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องมีองค์กรและบุคลากรที่เหมาะสม และมีความสุจริตเป็นพื้นฐาน ซึ่งหากทำได้จริงอาจจะเป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว แต่ในระยะสั้นรัฐอาจจะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ
ขณะเดียวกันระบบสัมปทานที่ผ่านมาก็มีจุดอ่อนในด้านข้อมูล ความโปร่งใส และการกำกับควบคุมของภาครัฐที่ไม่ใกล้ชิดเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่ความเคลือบแคลงว่ามีการเบียดบังผลประโยชน์ของรัฐ แต่ในเงื่อนไข Thailand 3+ ตามที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศนั้นก็ได้มีการปรับปรุงทั้งด้านผลประโยชน์ทั้งต่อรัฐและต่อผู้ลงทุนให้มีความยืดหยุ่น เป็นธรรมมากขึ้น และมีการตรวจสอบและสอบทานข้อมูลจากหน่วยงานกลางเพื่อให้มีความมั่นใจและน่าเชื่อถือมากขึ้นแล้ว ภาครัฐเองก็มีความพร้อมทั้งด้าน กฏระเบียบ และบุคคลากรเพื่อดำเนินการได้ทันที
อย่างไรก็ตาม รัฐต้องดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจและผลิต ซึ่งอาจรวมถึงการให้ประโยชน์ต่อชุมชนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดการยอมรับในพื้นที่นั้นๆ อย่างยั่งยืน