ขณะที่ทางค่ายโตโยต้า ตั้งเป้าหมายยอดขายรถยนต์โตโยต้าในประเทศไทยปีนี้ไว้ที่ 3.3 แสนคัน และเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของบริษัทที่ราว 3.9 แสนคัน โดยบริษัทพร้อมที่จะผลิตรถยนต์รุ่นที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าหลากหลายทั้งรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้ยังเตรียมกลยุทธ์ทางการตลาดอีกหลายด้านเพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ ทั้งเรื่องของการบริการหลังการขาย การทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับลูกค้า
สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทางบริษัทได้จัดตั้งสำนักงานเขตภูมิภาคแม่น้ำโขงเพื่อที่จะดูแลและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจใน AEC โดยทางบริษัทเชื่อว่าจะเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับจำนวนคน และปริมาณรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยหลังจากที่มีการเปิด AEC แล้วจะมีการเปิดกำแพงภาษี ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงสามารถซื้อรถยนต์ได้ในราคาไม่ต่างจากในประเทศ จึงเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าตลาดรถยนต์ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 30%
โตโยต้า ยังได้เปิดเผยยอดขายรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 57 ว่ามีทั้งหมด 881,832 คัน ลดลงจากปี 56 ราว 33.7% โดยตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มียอดขายลดลง 26.8% ตลาดรถยนต์นั่งลดลง 41.4% หากมองจากสถิติยอดขายรถยนต์จะพบว่าปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่มียอดขายสูงสุดเป็นอับดับที่ 3 ต่อจากปี 56 และ 55 ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงต้นปีจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนระมัดระวังเรื่องการลงทุนและใช้จ่าย ตลอดจนการปรับเข้าสู่สมดุลตามสภาวะปกติของตลาดรถยนต์หลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกก็ตาม
ในส่วนของโตโยต้าในปี 57 มียอดขาย 327,027 คัน ลดลง 26.6% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 151,763 คัน ลดลง 20.2% รถเพื่อการพาณิชย์ 175,264 คัน ลดลง 31.4% และรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 164,849 คัน ลดลง 30.4% ด้านการส่งออกในปีที่ผ่านมา บริษัทฯส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 425,730 คัน ลดลง 1%