นักเศรษฐศาสตร์สแตนชาร์ต มอง GDP ไทยปี 58 มีลุ้นโตได้ 6%รับผลดีราคาน้ำมันลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2015 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ไทย มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP)ในปี 58 มีโอกาสจะเติบโตได้สูงถึง 6% เนื่องจากเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในปี 57 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและโครงการภาครัฐหยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม การที่ GDP จะเติบโตไปได้ถึง 6% ต้องมีปัจจัยบวกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ดี อย่างเช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนในการผลิต และภาคเอกชนมีการลงทุนขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) นอกจากนี้ หากรัฐบาลมีการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ตามแผนงาน ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากขึ้น

อีกทั้ง ปัจจุบันนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและจีนได้เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิต และเป็นศูนย์กลางเพื่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ส่งผลทำให้ประเทศไทยได้รับผลบวกจากปัจจัยนี้ด้วย

"ทางแสตนดาร์ดชาน์เตอร์ดก็มองว่าการเติบโตในปีนี้ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ลง ซึ่งราคาที่ลดลงทุกๆ 10% จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น 0.2% อีกทั้งหากการลงทุนภาครัฐเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะช่วยหนุนได้อีกมาก เราคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2/58 และเรายังมีงบที่ค้างท่อจากปีที่แล้วอีกแสนล้านบาท ซึ่งเราคาดว่างบนี้น่าจะเห็นชัดๆ ในครึ่งปีหลัง เรามองว่าไตรมาส 1/58 เศรษฐกิจอาจจะโต 4% ไตรมาส 2/58 โต 5% และครึ่งปีหลังโตได้ 6%"นางอุสรา กล่าว

ขณะที่คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะมีการขยายตัวได้ราว 4-5% เนื่องจากปีก่อนการส่งออกไม่ขยายตัว แต่ในปีนี้จะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้น น่าจะทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ดีไปด้วย อีกทั้งหากเศรษฐกิจยุโรปมีการฟื้นตัวขึ้นก็จจะช่วยการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ การส่งออกในกลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นางสาวอุสรา กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้คาดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ต่อไป เนื่องจากเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยบ้างแล้ว ทำให้ ธปท. ยังไม่มีครามจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก อย่างไรก็ตาม มองว่า ธปท.อาจจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังหรือก่อนปลายปี 58 มาอยู่ที่ 2.5% เพื่อสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจไทย

ด้านมุมมองต่อค่าเงินบาทในสิ้นปี 58 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เหรียญ/บาร์เรลอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในปัจจุบันถือว่าแข็งค่าและมีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค

สำหรับการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพรุ่งนี้ (22 ม.ค.58)คาดว่าผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการใช้มาตราการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) โดยการอัดฉีดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเข้าสูระบบด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) คาดว่าปริมาณเงินที่จะเข้ามาในระบบราว 5 แสนล้านยูโร อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินที่ ECB อัดฉีดมานั้นจะมีแนวโน้มของการกระตุ้นการบริโภคในยูโรโซน คาดว่าตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียจะได้รับปัจจัยบวกจากการใช้มาตราการ QE จากทาง ECB น้อยมาก เนื่องจากเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดทุนเอเชีย รวมไปถึงไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ