ทั้งนี้ นับว่าสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและบีโอไอในการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงจากขยะ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในกลุ่ม A1 ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวลได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A2
บีโอไอโดยหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วย BUILD ได้ร่วมจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจให้กับคณะนักธุรกิจจากเกาหลีใต้ด้วย โดยได้เชิญผู้ประกอบการไทยในกลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเชื่อมโยงอื่นๆ ในประเทศไทย 28 บริษัท มาร่วมพบปะเจรจา คาดว่าจะก่อให้เกิดโอกาสของความร่วมมือ หรือการเชื่อมโยงทางธุรกิจกับบริษัทเกาหลีทั้ง 13 บริษัท และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานร่วมกันต่อไป
"ในช่วงที่ผ่านมา นักธุรกิจในกลุ่มพลังงานทดแทนจากเกาหลีใต้ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยบ้างแล้ว เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุนกว่า 540 ล้านบาท คาดว่าการจัดสัมมนาและจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนจากเกาหลีใต้ ซึ่งมีความพร้อมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เห็นโอกาสและตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในไทยเพิ่มขึ้น" นางหิรัญญา กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้นักธุรกิจเกาหลีใต้ยังจะได้เข้าพบกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจไทยและเกาหลีใต้ และภายหลังร่วมงานสัมมนาและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ยังจะได้เข้าเยี่ยมชมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของผู้ประกอบการไทยในจังหวัดอยุธยา และจังหวัดสระบุรีต่อไป
สำหรับไทยและเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ที่ดีในด้านการลงทุนร่วมกันมานาน โดยในช่วงตั้งแต่ปี 2552-2556 มีโครงการจากเกาหลีใต้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอรวมทั้งสิ้น 235 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 31,148.30 ล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่กระจายอยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับปี 2557 ที่ผ่านมา มีการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยถึง 63 โครงการ เงินลงทุนรวม 18,327 ล้านบาท โดยเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินลงทุนอยู่ที่ 3,944 ล้านบาท