พณ.เคาะราคาขั้นต่ำประมูลข้าวสต๊อกรัฐยกคลังล้านตัน เปิดให้ยื่นซอง 29 ม.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2015 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รายละเอียดการประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลแบบยกคลังรวมเกือบ 1 ล้านตัน โดยได้ประกาศราคาขั้นต่ำของข้าวในแต่ละคลัง รวมมูลค่า 11,600 ล้านบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบสภาพข้าวในแต่ละคลังได้ เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจยื่นเสนอราคาวันที่ 29 ม.ค.นี้

สำหรับข้าวที่จะเปิดให้ประมูล แบ่งเป็นข้าวขาว 5% ประมาณ 850,000 ตัน และข้าวหอมมะลิ ประมาณ 150,000 ตัน ในคลังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวม 168 คลัง 36 จังหวัด ซึ่งได้ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบแล้ว

"การประมูลข้าวในรอบนี้ ถือว่ามากสุดในรอบหลายๆ ปี ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีคนซื้อหมดหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะมีผู้สนใจเสนอราคา สังเกตจากเอกชนที่เดินทางเข้ามารับฟังการชี้แจงในรอบนี้ ซึ่งการเสนอราคาประมูล ในกรณีที่เสนอราคาเท่ากัน จะให้แต่ละรายเสนอราคาเพิ่มใหม่ครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท จนกว่าจะได้ผู้เสนอราคาสูงสุด"นางดวงพร กล่าว

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประมูลข้าวยกคลังรอบนี้ เชื่อว่าจะมีเอกชนสนใจเข้าร่วมซื้อข้าวจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงในประเทศ เพราะจากการประเมินราคาขั้นต่ำของแต่ละคลังที่รัฐประกาศออกมา พบว่าราคาไม่สูงมาก โดยข้าวหอมมะลิ ราคาขั้นต่ำกิโลกรัม (กก.) ละ 20-21 บาท ต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิเก่าในตลาดที่ขายกก.ละ 31-32 บาท ส่วนข้าวขาว 5% ราคาขั้นต่ำกก.ละ 8-10 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดที่ขายอยู่ที่กก.ละ 13 บาท สำหรับราคาส่งออกข้าวขาวของไทยเฉลี่ยตันละ 410 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าเวียดนามที่ขายตันละ 370 เหรียญฯ หากประมูลซื้อได้ใกล้เคียงกับราคาที่รัฐกำหนด ผู้ส่งออกจะส่งออกในราคาที่แข่งขันได้ หรือเฉลี่ยที่ตันละ 340 เหรียญฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกยังมีปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ลดค่าเงินลงมา จึงน่าเป็นห่วงว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะลดลง ประกอบกับ ตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ ซึ่งรัฐบาลควรเร่งระบายข้าวในสต๊อก เพื่อลดแรงกดดันราคาข้าวไทยในตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงครั้งนี้ มีตัวแทนของบริษัท สยาม อินดิก้า เข้าร่วมรับฟังด้วย ซึ่งจากการสอบถามกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) บริษัทดังกล่าว เพราะต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีชี้มูลความผิดเรื่องสัญญาข้าวรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)4 ฉบับ ซึ่งบริษัท สยาม อินดิก้า ถูกชี้มูลด้วย โดยเมื่อได้หนังสือแล้ว ฝ่ายกฎหมายจะตรวจสอบว่าต้องขึ้นแบล็กลิสต์หรือไม่ หากขึ้นแบล็กลิสต์ บริษัทนี้จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลข้าวของรัฐบาลได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ