ก.เกษตรฯ เตรียมเงินกู้ดบ.ต่ำ 5 พันลบ.ให้ชาวสวนยางรายย่อยซื้ออุปกรณ์แปรรูป

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2015 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ หารือผู้แทนสมาคมผู้กรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย กลุ่มน้ำยางสด จาก 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา สงขลา สตูล กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นที่ในการปลูกยางไม่เกิน 10 ไร่ รวมตัวกันเพื่อขอนโยบายและความให้ช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตน้ำยางสด เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนขึ้นมาใหม่ และได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ราคายางตกต่ำ ซึ่งในขณะนี้ราคารับซื้อน้ำยางสดอยู่ที่ 34 บาท/กก. เท่านั้น ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้เสนอให้กลุ่มเกษตรกร แปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นดิบแล้วส่งขายตามกลไกตลาด ซึ่งจะได้ราคาดีกว่าคือ 58 บาท/กก. ทั้งนี้จะดำเนินการโดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้นำไปซื้ออุปกรณ์ในการแปรรูปยางส่งขายต่อไป

ด้านนางเรไร รัตนสุภา ผู้จัดการโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นนั้น คณะทำงานฯ ที่ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง กรมวิชาการเกษตร และผู้แทนเกษตรกรจาก 8 จังหวัด ดังกล่าว ร่วมกันร่างแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 ม.ค.นี้ โดยจะให้ความช่วยเหลือในการปล่อยเงินกู้แปรรูปยางดอกเบี้ยต่ำ ที่คงเหลือจำนวน 5,000 ล้านบาท จากโครงการสนับสนุนเงินทุนแก่สถาบันเกษตรกร ที่ให้วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท และปล่อยกู้ให้กับสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปผลผลิตไปเพียง 5,000 ล้านบาทเศษ ในการนำไปจัดซื้ออุปกรณ์แปรรูปยางพารา ได้แก่ จักรรีดยาง มอเตอร์รีดยาง ตะกงใส่น้ำยาง เป็นต้น เพื่อแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบและตลาดกลางมีราคาประมูล 58 บาท/กก.

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการปล่อยกู้ก่อน หากไม่ติดปัญหาใดสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ได้ทันที แต่หากติดหลักเกณฑ์บางประการ จะนำเรื่องยื่นเสนอครม. เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) จะใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อเข้าประมูลตามกลไกตลาดกลางยางพารา โดยรับซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแผ่นรมควันอัดก้อน และยางแท่ง STR20 จากสถาบันเกษตรกร และตลาดกลางยางพารา ทั้งตลาดซื้อขายจริง (spot market) และตลาดข้อตกลงส่งมอบจริง (forward market) นำมาบริหารจัดการเป็นลักษณะสต๊อกหมุนเวียน (moving stock) เพื่อใช้เป็นมูลภัณฑ์กันชนสำหรับลดความผันผวนของราคายางในตลาด โดยคณะกรรมการบริหารกิจการของ อ.ส.ย. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง และข้อปฏิบัติการซื้อขายและการบริหารจัดการโครงการ โดยจะเข้ารับซื้อเมื่อราคายางในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาที่กำหนด และเสนอขายตามความเห็นชอบของคณะทำงาน ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน (พฤศจิกายน 2557–เมษายน 2559) โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดไม่ให้เกิดความผันผวนมากจนเกินไป เกื้อกูลให้สถาบันเกษตรกรมีตลาดสำหรับระบายยาง เกิดการหมุนเวียนการผลิตและการรับซื้อยางดิบจากเกษตรกรนำมาแปรรูปต่อไป


แท็ก ภาคใต้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ