ส่วนผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกของไทยไปยูโรโซนนั้น มองว่า มาตรการ QE ของ ECB อาจกดดันให้เงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งย่อมเป็นปัจจัยกระทบความสามารถในการแข่งขัน และกดดันให้การส่งออกไทยไปยูโรโซนมีภาพที่ไม่สดใสมากนักในปีนี้ นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดจากการตัดสิทธิ GSP และแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่น่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และค่าเงินบาทของไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ จุดเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่รออยู่ในช่วงกลางปี 2558 รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศของไทย
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รายละเอียด และเงื่อนไขหลายๆ ส่วนจากมาตรการ QE ของ ECB ทำให้ประเมินว่า ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของ ECB และผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อาจจะไม่เด่นชัดเท่ากับมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพราะอาจมีความเป็นไปได้ว่า ข้อจำกัดในการเข้าซื้อพันธบัตรทั้งในส่วนของ ECB และธนาคารกลางแต่ละประเทศตามเงื่อนไข จะส่งผลทำให้ขนาดงบดุลของ ECB เพิ่มขึ้นน้อยกว่าวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่ตั้งไว้ที่ 6.0 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ซึ่งหากกรณีนี้เกิดขึ้น ECB ก็อาจจะต้องมาทบทวนรายละเอียดของมาตรการในภายหลัง)