(เพิ่มเติม) สถาบันอาหารคาดปีนี้ส่งออกแตะ 1.08 ล้านลบ. ได้บาทอ่อน-ศก.โลกโตช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 26, 2015 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันอาหาร เผยแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกขยายตัว, เงินบาทอ่อนค่า, ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหาร เช่น การสานต่อโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก การส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นต้น

สำหรับสินค้าหลักส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย 6 สินค้าหลัก คือ ข้าว เพิ่มขึ้น 2.4%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 9.4%, ไก่ เพิ่มขึ้น 7.1%, กุ้ง เพิ่มขึ้น 20.4%, ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้น 0.7%, และเครื่องปรุงรส เพิ่มขึ้น 7.4% มีเพียงการส่งออกสับปะรดกระป๋องที่คาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อย 3% เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนด้านวัตถุดิบ และน้ำตาลทรายที่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งทำให้การผลิตอ้อยลดลง 5.4%

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารในปีนี้ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้จากากรส่งออกสินค้าอาหารลดลง เช่น ข้าว, น้ำตาลทราย, ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP ทุกสินค้าตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นไป ซึ่งกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกที่พึ่งพิงการส่งออกไปยัง EU โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารทะเล และกลุ่มผักผลไม้แปรรูป เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบชัดเจนกว่าอาหารประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลักในตลาดยุโรป

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 สถาบันอาหารยังมีแผนงานสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทางด้านความปลอดภัยของอาหารและการประสานงานเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจอาหาร ดังนี้ 1. ด้านนโยบายรัฐนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก แบ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวคุณภาพของโลก, การดำเนินงานภายใต้โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย, การดำเนินงานด้านนโยบายรัฐนโยบายอาหารฮาลาล

2. ด้านการส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร 3. ด้านการเพิ่มผลิตภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร 5. การดำเนินงานเพื่อสังคม

สำหรับการดำเนินงานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา (2554-2557) สถาบันอาหารดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก หรือ Thailand Food Quality to the World, โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือ Thiland Food Forward และ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

ทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการที่มุ่งสนองนโยบาย"ครัวไทยสู่ครัวโลก" โดยเน้นให้ไทยเป็น"ครัวคุณภาพของโลก" โดยสถาบันอาหารได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมนับแต่ปี 2554-2557 รวม 1,260.80 ล้านบาท สามารถพัฒนาออกมาเป็นผบิตภัณฑ์ใหม่รวมทั้งสิ้นกว่า 500 ผลิตภัณฑ์ ทางสถาบันอาหารจึงได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้สามารถเข้าสู่สนามการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน

และเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 โดยพระองค์ได้รับพระสมญานามว่า"เจ้าฟ้านักโภชนาการ" สถาบันอาหารจึงริเริ่มดำเนินการโครงการเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"ขึ้น 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการส่งเสริมการเรียนรู้อุตสาหกรรมอาหารของไทย จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย หรือ Thai Food Heritage โดยสถาบันอาหารได้รับงบประมาณ 60 ล้านบาทในการปรับปรุงอาคารสำนักงานโรงสุราบางยี่ขันเดิมให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย หรือ Thai Food Heritage เป็นพื้นที่รวบรวมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยและการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย รองรับกลุ่มเป้าหมายคือ นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการและบุคคลในแวดวงอาหาร รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ คาดว่าจะสามารถเปิดบริการบางส่วนในเฟสแรกได้ในวันที่ 2 เมษยน 2558 นี้

2.โครงการพัฒนาเกณฑ์การบริหารสู่ความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน และ 3.โครงการยกระดับ 600 ครัวอาหารของไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล(600 Mass Catering for International Standard) ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการรับสมัครครัวอาหารจากทั่วประเทศให้เข้าร่วมโครงการแล้วโดยความร่วมมือกับสมาคมโรงแรมไทย สมาคมเชฟประเทศไทย

ทั้งนี้ สถาบันอาหารได้จัดทำ “สุขลักษณะที่ดีของครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มาก (GMP in Mass Catering)" เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการอาหารของไทยใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาในการผลิตและบริการอาหารสำหรับคนหมู่มากอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคอาหาร และยกระดับมาตรฐานด้านสุขลักษณะในการผลิตและบริการอาหารให้สูงขึ้นเทียบเท่าสากล รวมทั้งสร้างความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ