หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance มีการกำหนดนิยามสินเชื่อที่จะกำกับดูแลประเภทใหม่ โดยใช้ชื่อว่า“สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ"หมายความถึงการให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่งแก่บุคคลธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น และมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกหนี้แต่ละราย
ทั้งนี้ ธปท.จะเป็นผู้กำกับดูแลสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ โดยมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติ และตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance ซึ่งคุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจาก รมว.คลังผ่าน ธปท.
ส่วนดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ นั้น สินเชื่อ Nano-Finance เป็นสินเชื่อประเภทใหม่ที่มีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระมากจนเกินควรต่อผู้บริโภค จึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ จากลูกหนี้รวมกันแล้วคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective rate) ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี
นอกจากนี้ เงื่อนไขการดำเนินงานอื่น ๆ มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติ เช่น แนวทางการเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามหนี้ การปฏิบัติและจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้บริโภค การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน เป็นต้น
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.1 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธ.ค.57 เพื่อกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับเป็นกิจการที่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งมอบอำนาจให้ ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อดังกล่าว
รวมทั้ง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 26 ธ.ค.57 เพื่อกำหนดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective rate)
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงการคลังทั้งสองฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.58
และ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.1/2558 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ลงวันที่ 22 ม.ค.58 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับต้องถือปฏิบัติ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.58
ผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจผ่าน ธปท.ได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศ ธปท.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา(วันที่ 24 ม.ค.58)