"ถึงเดือนม.ค.นี้ สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 90% เป็นเงินรวมกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว 4 หมื่นล้านบาท และจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางประมาณกว่า 8 พันล้านบาท ที่เหลือยังมีปัญหาเรื่องเอกสารหลักฐานไม่ครบและมีความขัดแย้งเรื่องตัวเลข"รมว.เกษตรฯ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
สำหรับกรณีที่กระทรวงเกษตรได้ขออนุมัติงบประมาณ 3 พันล้านบาทเพื่อใช้ในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซากทำนาไม่ได้เลยซึ่งมีอยู่หลายพื้นที่ จะเห็นว่าเป็นการทยอยให้ทีละกลุ่ม ถือว่าใช้เงินไปจำนวนมาก โดยได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะไปร่วมกันจัดทำแผนงาน และขออนุมัติต่อไป โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ
"ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศได้แก้ปัญหาเรื่องการเกษตรไปหลายอย่างหลายมาตรการ ทั้งยางและข้าว บรรเทาความเดือดร้อน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เงินกองทุนไร่ละ 1,000 บาท ชะลอการชำระหนี้ ให้เงินกู้ แต่วันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องดูแลพี่น้องเกษตรกร แต่จะให้ทั่วถึงและทุกคนพอใจคงยาก เพราะจะต้องใช้เงินจำนวนสูงมาก"นายปีติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 ต้องทำให้เกษตรกรอยู่ได้ในระดับหนึ่ง มีเงินพออุปโภคบริโภค หรือมีเงินซื้อปัจจัยการผลิต มีเงินเพียงพอลงทุนในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่เดือนพ.ค.นี้ ส่วนการแจกคูปองจะต้องกำหนดร้านค้าที่รับคูปอง เหมือนโครงการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ให้เกษตรกรเบิกซื้อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า การกระตุ้นครั้งนี้ มีหลายแนวคิด รวมทั้งเรื่องการจ้างแรงงานเกษตรกรเพื่อก่อสร้างก็ทำได้เนื่องจากมีงานก่อสร้างมากมาย แต่ปัญหาคือแรงงานเกษตรกรชนบทส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนแก่ จากมาตรการจ้างชาวนาขุดลอกคลอง ซ่อมประตูระบายน้ำมีคนมาสมัครน้อย ดังนั้น จึงต้องหานโยบายอื่นที่จะทำให้เกษตรกรมีเงินจับจ่ายใช้สอยได้และส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ