ขณะเดียวกัน ทางตัวแทน IMF ได้แนะนำให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ฝ่ายเศรษฐกิจได้เสนอแผนเร่งการเบิกจ่ายงบการลงทุนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และยอมรับว่าการลงทุนในไตรมาสแรกของปีงบ 58 ยังเบิกจ่ายได้ช้า
นอกจากนั้น ตัวแทน IMF ยังได้สอบถามถึงการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จึงได้ชี้แจงไปว่ารัฐบาลจะขอพิจารณาจากสถานการณ์รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะปรับขึ้น VAT จากระดับปัจจุบันที่ 7% หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารายได้ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับรายจ่ายถือว่าไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลได้พยายามเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนจากเดิม 17.5% เป็น 20%
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึงกรณีที่เริ่มมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามามากในตลาดหุ้นไทยภายหลังธนาคารกลางยุโรป(ECB) ประกาศใช้มาตรการ QE ว่า มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามากตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่ยังไม่พบว่าการเก็งกำไรที่ผิดปกติ พร้อมเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)ยังสามารถรับมือกับปริมาณเงินที่ทะลักเข้ามาในไทยได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากค่าเงินบาทที่ยังมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ในระยะยาวรัฐบาลมีการเตรียมมาตรการไว้รองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากที่ประเทศรายใหญ่ใช้มาตรการ QE แล้ว
ส่วนสถานการณ์ด้านการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนั้น เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่จีนมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบ แต่กระทรวงพาณิชย์มีมาตราการในการหาตลาดส่งออกเพิ่ม เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา
รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเดินทางเข้าพบของนายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวานนี้มีการพูดคุยประเด็นที่จะมีการหารือในช่วงที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเยือน 8-10 ก.พ.นี้ ซึ่งจะมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง หรือ MOI ในการพัฒนาระบบรางในเส้นทางกรุงเทพฯ - กาญจนบุรี, กรุงเทพฯ - อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ - แหลมฉบัง - ระยอง นอกจากนี้ได้มีการหารือโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, เขตพัฒนาพิเศษชายแดน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย(JHC ) ได้มีกำหนดการประชุมในวันที่ 30 ม.ค.นี้