น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามปกติ เช่น บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนจำนวนเงินสูงผิดปกติ โดยไม่มีเงินทุนเข้ามาในกิจการจริง โดยปีนี้กำหนดเป้าหมายการตรวจสอบทางบัญชีของภาคธุรกิจกว่า 300,000 รายทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและตามความเป็นจริง โดยเฉพาะกลุ่มที่จดทะเบียนโดยใช้วงเงินสูง จะตรวจสอบเข้มข้นมากขึ้น
สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 58(ต.ค.-ธ.ค.57) ได้ตรวจสอบธุรกิจไปแล้ว 13,000 ราย โดยวิเคราะห์จากข้อมูลงบการเงินที่นำส่งกับกรมฯ และการเรียกบัญชีธุรกิจมาตรวจสอบการจัดทำบัญชี พบว่า 97.63% ของงบการเงินไม่พบข้อบกพร้องใดๆ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้วิเคราะห์ลึกลงไปจากการเรียกบัญชีธุรกิจมาตรวจสอบ พบว่า 15% มีการจัดทำบัญชีถูกต้องแต่มีข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย และ 80% กระทำผิดกฎหมายโดยฝ่าฝืนคำสั่งสารวัตรใหญ่บัญชี หรือสารวัตรบัญชี ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษทั้งจำคุก และปรับ นอกจากนี้ จะถูกติดตามในปีถัดไป รวมทั้งกรมฯ จะจัดส่งรายชื่อธุรกิจที่กระทำผิดกฎหมายไปยังกรมสรรพากร และสภาวิชาชีพ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
พร้อมกันนี้ กรมฯ ยังสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบไปยังพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ด้วย
"ตอนนี้มีข่าวเกิดขึ้นบ่อยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของนิติบุคคลที่อาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ หรือสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในสังคมไทย เช่น กรณีแชร์ลูกโซ่ การจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนมากผิดปกติโดยที่ไม่เงินทุนเข้ามาในกิจการจริง หรือกระทั่งการยักยอกทรัพย์กรณีสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกรมฯ โดยจะใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และกำกับธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ" น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว