อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันส่งผลกระทบทางลบต่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และน้ำตาล ที่ราคาปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน และมีความเคลื่อนไหวของราคาค่อนข้างผันผวน
"ปีนี้เราได้รับแรงผลักดันการเติบโตมาจากน้ำมันที่หัวทิ่มหัวตำ ซึ่งที่ผ่านมาหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับสูง ในขณะเดียวกันภาครัฐฯก็อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติโครการโครงสร้างพื้นฐานให้มากที่สุดภายใน 3 เดือนนี้เพื่อที่เป็นตัวผลีกดันการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องติดตามราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน"นายณรงค์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินว่า หากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทุก 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะช่วยผลักดันให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)เพิ่มขึ้น 0.1% แต่ปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจในปีนี้ คือทางภาครัฐได้เตรียมจะอนุมัติโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้ออกมามากที่สุดในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะโครงการระบบขนส่งทางรางทั้งรถไฟและรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้
แต่ในปีนี้ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป หลังจากประกาศใช้มาตราการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิ(QE)ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะหลังจากที่สวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินไม่ให้ผูกติดกับค่าเงินยูโร และยังเกิดความกังวลว่ากรีซก็อาจจะออกจากการเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย จึงยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่อง
นายณรงค์ชัย ยังกล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานของไทยว่า ยังเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด โดยในวันที่ 30 ม.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เพื่อพิจารณาแผนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซเอ็นจีวี จากราคาขายปลีกปัจจุบันที่รัฐบาลกำหนดเพดานไว้ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนจะปรับในอัตราเท่าใดนั้นคงต้องรอดูมติอีกครั้ง แต่จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าราคาน้ำมันโลกที่ลดลงขณะนี้ทำให้ต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีปรับลดลงจาก 16 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยอาจปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร เป็น 4.25 บาทต่อลิตร แต่คงโดยต้องแก้ปัญหาการเก็บภาษีน้ำมันในสต็อกก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ภาคเอกชน ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าภาษีน้ำมันที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์ที่วิ่งบนถนนควรอยู่ที่ 4-5 บาทต่อลิตร แต่น้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันเชิงพาณิชย์ควรมีการจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่าเบนซินที่จัดเก็บ 5.60 บาทต่อลิตร
"ยืนยันว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีดีเซลก็จะไม่ให้กระทบราคาขายปลีก เนื่องจากจะใช้แนวทางการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเพื่อโอนไปเป็นภาษี ขณะที่ E85 หรือเอทานอลประเภทต่างๆ ทางกระทรวงฯ ยังไม่มีแผนจะอุดหนุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด"นายณรงค์ชัย กล่าว
ขณะที่นายณรงค์พันธ์ สีหะปัญญา INVESTMENT ANALYST บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มทิศทางราคาน้ำมันจะเป็นลักษณะ L shape ในช่วง 3-9 เดือนข้างหน้า โดยคาดราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 40-50 เหรียญ/บาร์เรล เพราะยังไม่เห็นสัญญาณของการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว(Long term) ช่วง 9 เดือนถึง 24 เดือนข้างหน้ามีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70-80 เหรียญ/บาร์เรลได้ หากปริมาณซัพพลายลดลง สะท้อนจากที่ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันต่างปรับแผนลงทุนระยะยาว โดยจะไม่ลงทุนขุดเจาะแหล่งใหม่ๆ เพิ่มเติม
สำหรับการประชุมกลุ่มโอเปกครั้งถัดในเดือน มิ.ย.58 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณจากกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบียที่เป็นผู้ผลิตหลัก หรือมีปริมาณการส่งออกน้ำมัน 1 ใน 3 ของกลุ่มโอเปกที่จะลดกำลังการผลิตลงจากเพดานการผลิตน้ำมันที่กำหนดไว้ในระดับ 30 ล้านบาร์เรล/วัน และยังมีความเสี่ยงเรื่องนโยบายทางการเงินของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาติมุสลิมกับชาติตะวันตก เป็นปัจจัยระยะสั้นที่จะทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปได้ไม่มากนัก
นายณรงค์พันธุ์ กล่าวว่า หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มขนส่ง, การบิน, ท่องเที่ยว และสินค้าอุปโภคบริโภคที่คาดจะได้รับประโยชน์ในด้านต้นทุน และการจับจ่ายใช้สอยภาคผู้บริโภคที่จะดีขึ้น