ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินเป็นสิ่งที่ กนง. ให้น้ำหนักมากกว่า โดยในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้กล่าวว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ซึ่งหมายความว่า กนง. ยังคงกังวลต่อความเสี่ยงทางด้านหนี้ครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ทั้งนี้ SCB EIC ยังคงมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ 2% ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำเพียงชั่วคราว ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถคงอยู่ที่ระดับนี้ได้เพื่อเป็นการรักษา เสถียรภาพทางการเงินในภาวะที่หนี้ครัวเรือนยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม หากการใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด หรือเงินบาทมีการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว นโยบายการเงินอาจผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าเร็วเกินไปนัก และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.จากระดับ 33 มาอยู่ที่ราว 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนม.ค. ซึ่งแรงกดดันส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ QE ของยุโรปที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังไม่ถือว่าแข็งค่ามากนักเมื่อเทียบกับปี 57 ที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจากระดับ 33 บาท ในช่วงต้นปีลงไปอยู่ที่ 31.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.ค.ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง