ทั้งนี้ ไทยจะได้เสนอยุทธศาสตร์ “แม่สอด-เมียวดี โมเดล” ผ่านช่องทางทางการทูตให้เมียนมาพิจารณาและหารือในรายละเอียดเพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission: JTC) ไทย-เมียนมา ในเดือนส.ค. นี้
ไทยมั่นใจว่า ยุทธศาสตร์ “แม่สอด-เมียวดี โมเดล” จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนความร่วมมือการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาอย่างบูรณาการและเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการกระตุ้นการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนในเมืองหน้าด่านชายแดนของไทยและเมียนมา โดยใช้การเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จังหวัดตาก กับเขตอุตสาหกรรมและการค้าเมียวดี เป็นประตูนำร่องในการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยและเมียนมา
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ “แม่สอด-เมียวดี โมเดล” ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันข้างต้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ชายแดนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและกฎระเบียบต่างๆ การจัดตั้งกลไกส่งเสริมการลงทุนและบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจรตามแนวชายแดน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว และการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister Cities) ระหว่างแม่สอดกับเมียวดี ซึ่งคณะรัฐมนตรีไทยได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของการค้าชายแดนและศักยภาพทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดน ซึ่งสามารถสร้างรายได้และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยจะร่วมกันเร่งรัดผลักดันให้เกิดการดำเนินการให้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันในปี 2559 เพิ่มขึ้นเท่าตัว, การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมการค้าชายแดนไทย-เมียนมาเพื่อขับเคลื่อนการค้าชายแดนสองฝ่าย, การจัดตั้งสภาธุรกิจเพื่อขยายการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน และสนับสนุนให้ภาคเอกชนพัฒนาศูนย์กลางการค้าส่ง ค้าปลีก และบริการด้านสุขภาพ ท่องเที่ยว และการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและเมียวดี
"ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันส่งเสริมการค้าชายแดน ซึ่งมีความสำคัญต่อทั้งไทยและเมียนมาและเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากการค้าชายแดนระหว่างกันมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 80 ของการค้ารวม ซึ่งความร่วมมือจะช่วยให้มีการเชื่อมโยงและเติบโตไปด้วยกัน และเป็นประโยชน์โดยเฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่ของทั้งสองฝ่าย" รมว.พาณิชย์ กล่าว