"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยสะท้อนเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า จากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ ทั้งจากการบริโภค การลงทุน และภาคการคลัง รวมถึงการส่งออกสินค้า ขณะที่เศรษฐกิจด้านอุปทานจากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แม้ว่าภาคเกษตรกรรมยังคงมีสัญญาณชะลอตัว"นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่แม้ว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่พบว่ามีสัญญาณดีขึ้น โดยในเดือน ธ.ค.ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 และไตรมาส 4/57 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวชะลอลงจากการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนภูมิภาค สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อเดือน และขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อไตรมาส สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ธ.ค.57 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 70.5 ทำให้ไตรมาส 4/57 อยู่ที่ระดับ 69.6 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะเม็ดเงินที่สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงโครงการลงทุนซ่อมสร้างต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแต่ละท้องถิ่น และราคาน้ำมันภายในประเทศปรับตัวลดลง
การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ธ.ค.57 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี 57 หลังจากที่มีการขยายตัวเป็นบวกเมื่อเดือน ก.ย.57 โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับกับเดือนก่อนหน้า ทำให้ไตรมาส 4/57 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อไตรมาส สะท้อนทิศทางการฟื้นตัว หลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ประกอบกับไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการเปิดขายโครงการใหม่ ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยอดขายปูนซิเมนต์ในเดือนธันวาคม 2557 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี โดยขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี ยอดขายปูนซิเมนต์ในไตรมาส 4/57 ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.8 ต่อปี และ -1.8 ต่อไตรมาส สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ในเดือน ธ.ค.57 สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ธ.ค.57 ที่กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี และร้อยละ 8.2 ต่อเดือน แต่ไตรมาส 4/57 ยังคงหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี และ -1.4 ต่อไตรมาส
ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค.57 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาส 4/57 หดตัวร้อยละ-15.8 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อไตรมาส
สถานการณ์ด้านการคลังสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือน ธ.ค.57 จำนวน -83.6 พันล้านบาท มาจากการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 170.4 พันล้านบาท ขณะที่เบิกจ่ายงบประมาณรวมได้จำนวน 270.7 พันล้านบาท ทำให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 มีอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเท่ากับร้อยละ 29.8 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 (2.575 ล้านล้านบาท) และมีการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ -344.6 พันล้านบาท
สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้า กลับมาขยายตัวอีกครั้ง เดือนธ.ค.อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี และไตรมาส 4/57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี โดยตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวได้ดีในไตรมาส 4/57 ได้แก่ อาเซียน-9 สหรัฐ และทวีปออสเตรเลีย โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ สินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร ยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเม็ดพลาสติก
ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แม้ว่าภาคเกษตรกรรมยังคงมีสัญญาณชะลอตัวโดยภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือน ธ.ค.57 หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.6 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาส 4/57 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.7 ต่อไตรมาส อุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ 4 ได้แก่ อุตสาหกรรมวิทยุโทรโทรทัศน์ เครื่องแต่งกาย และเคมีภัณฑ์ เป็นสำคัญ
ภาคบริการ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.84 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 11.8 ต่อปี และคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียมีสัดส่วนสูงสุดโดยขยายตัวร้อยละ 66.4 และ 33.2 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาส 4/57 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 7.45 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 13.9 ต่อไตรมาส
อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ธ.ค.57 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.8 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดธัญพืชเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี รวมทั้งผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสับปะรดโรงงานที่ปรับตัวลดลง ทำให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในไตรมาส 4/57 หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี และหดตัวร้อยละ-0.8 ต่อไตรมาส
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.57 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.20 แสนคน
เสถียรภาพภายนอกประเทศถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 157.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่าอันจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้