รองปธน.เมียนมาร์พบนายกฯ หนุนเดินหน้าทวาย พร้อมหารือญี่ปุ่นต้นก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2015 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายญาน ทุน รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทย-เมียนมาร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2558 โดยการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุม JHC และการประชุมร่วม 3 ฝ่ายกับญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของโครงการทวาย และแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมา

โฆษกฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมียนมาร์ มีความสำคัญกับเมียนมาร์และประเทศในภูมิภาคนี้ เนื่องจากจะเป็นประตูทางทิศตะวันตกจากเมียนมาร์-ไทยไปสู่โฮจิมินห์และพนมเปญได้ในอนาคต ซึ่งไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อผลักดันโครงการให้คืบหน้าโดยเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนเชื่อมโยงระหว่างบ้านน้ำพุร้อน-ทวาย โดยนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือน ก.พ. นี้ ด้วย

ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องในการพัฒนาความเชื่อมโยงและพื้นที่ชายแดน ไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงและการพัฒนาของไทยและเมียนมาร์ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามี 3 เส้นทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ 1) แม่สอด – เมียวดี 2) สิงขร – มอต่อง 3) พระเจดีย์สามองค์ – พญาตองซู โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าการเปิดเส้นทางเหล่านี้ไม่ใช่การกำหนดเส้นเขตแดน ไม่อยากให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย ซึ่งทางเมียนมาร์เห็นด้วยและรับที่จะไปพิจารณาบางจุดตามที่ไทยเสนอเพิ่มเติม

ในโอกาสนี้ เมียนมาร์ได้แสดงความขอบคุณที่ไทยช่วยซ่อมสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 และจะสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 2 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ด้านการประมง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยและเมียนมาร์มีความร่วมมือกันในเรื่องนี้มากขึ้น โดยอาจร่วมทุนกันจัดตั้งกองเรือประมงเพื่อร่วมหาปลาในเขตสัมปทาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องแหล่งประมง ซึ่งฝ่ายเมียนมาเห็นด้วยว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ โดยอาจต้องมีการกำหนดเรื่องการจับปลา รวมทั้งการกำหนดราคาร่วมกัน

ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่สองประเทศเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยเห็นว่ายังสามารถขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันได้อีก โดยในปีนี้ไทยเน้นการท่องเที่ยววิถีไทย ซึ่งจะส่งรายละเอียดให้กับเมียนมาร์ เพื่อให้สามารถมาเชื่อมโยงกับไทยร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาผลผลิตทางการเกษตรและยางพารา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงกังวลและอยากให้มีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อช่วยกันวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในอนาคต

สำหรับความร่วมมือด้านแรงงาน ไทยขอให้เมียนมาร์ช่วยเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีแรงงานเมียนมาร์มาลงทะเบียนไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่การพิสูจน์สัญชาติยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการออกใบรับรองชั่วคราวให้ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ