(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ม.ค.ลด 0.41%ครั้งแรกรอบเกือบ 6 ปีหลังน้ำมันดิ้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2015 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือนม.ค.58 ดัชนีอยู่ที่ 106.02 ลดลง 0.41% จากเดือนช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.59% จากธ.ค. 57 เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารสดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.58 ปรับตัวลดลง เป็นการปรับตัวลดลงในรอบตั้งแต่เดือนก.ย.52 ที่ติดลบ 1% โดยในช่วง ส.ค.-ก.ย.52 รัฐบาลเริ่มมีนโยบายลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับในช่วงนั้นราคาน้ำมันมีการอ่อนตัวลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 0.60% (YoY) เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง และการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า จากการปรับลดลงของอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) รวมทั้งราคาอาหารสดที่สำคัญประเภท ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้ และผักสดบางชนิดราคายังคงปรับลดลง ตามนโยบายและมาตรการดูแลค่าครองชีพและราคาสินค้าของรัฐบาล (คสช.)

"ภาวะตอนนี้ยังไม่มีช่วงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะที่เงินเฟ้อลดลงไม่ได้เป็นเพราะการลดการบริโภค แต่เป็นเพราะจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง"นายสมเกียรติ กล่าว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ตั้งแต่ ม.ค.58 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์จะไม่มีการแถลงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แล้ว แต่ในส่วนการ Report จะมีการทำอยู่ แต่ไม่มีรายงานออกมา เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบเมื่อ 6 ม.ค. ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปแทนกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและยืดหยุ่นเรื่องการใช้นโยบายการเงินได้ดีขึ้น

"ครม.มีมติให้แบงก์ชาติใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ โดยใช้ตัว Headline แทน Core CPI แต่ในส่วนของ Core CPI ยังมีการ report อยู่ เพียงแต่จะไม่นำไปวิเคราะห์ เราจะใช้แค่การวิเคราะห์ headline อย่างเดียว" นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ม.ค.58 อยู่ที่ 113.03 ลดลง 0.14% จากธ.ค.57 แต่เพิ่มขึ้น 2.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.21 ลดลง 0.83% จากเดือน ธ.ค.57 และ ลดลง 1.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค.58 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลง 0.14% (MoM) ตามการลดลงของราคาผักสดและผลไม้ ได้แก่ ผักคะน้า ผักชี ผักกาดหอม ต้นหอม ส้มเขียวหวาน ชมพู่ รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ปริมาณสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ ข้าวสารเจ้า ปลาช่อน ปลานิล ปลาหมึกกล้วย น้ำมันพืช ซีอิ้ว น้ำอัดลม นมสด นมเปรี้ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปรับราคาสูงขึ้น

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลง 0.83% (MoM) จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันหล่อลื่น และค่ากระแสไฟฟ้า ขณะที่ ค่าเช่าบ้าน ก๊าซยานพาหนะ (NGV) ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพูสระผม และกระดาษชำระ มีราคาปรับสูงขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสแรกอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.11%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าในเดือนก.พ.58 จะมีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ จากปัจจุบันมีกรอบไว้ที่ 1.8-2.5% ซึ่งเป็นกรอบที่ทำไว้เมื่อปีก่อน ที่ระดับราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 100 ดอลล/บาร์เรล แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวดลง และคาดว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ดังนั้นจะมีการปรับตัวเลขเงินเฟ้อใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ