"สำหรับค่าเอฟทีงวดเดือนพฤษภาคม ถ้าราคาน้ำมันยังทรงตัวระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วง 5-6 เดือนแนวโน้มค่า เอฟทีงวดหน้าก็มีโอกาสลดลงได้ แต่ยังต้องดูองค์ประกอบทั้งการใช้ไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยน แต่แนวโน้มก็มีโอกาสลดลงได้"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ในปี 58-60 นั้น กกพ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด ซึ่งกกพ.ได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปีที่แล้ว และจะพยายามให้ทันใช้ภายในงวดเดือนพ.ค.นี้ แต่กกพ.ยังคงต้องการข้อมูลอีกพอสมควรโดยเฉพาะจากการไฟฟ้าต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าค่าไฟฟ้าฐานที่จะปรับใหม่นั้น ไม่น่าจะสูงขึ้นจากเดิม เพราะมีการดูแลต้นทุนที่ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มของการลงทุนของการไฟฟ้าที่อาจจะเลื่อนออกไปหลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโต ไม่มากนัก โดยเติบโตปีละ 1-2% จากเดิมที่เติบโตปีละ 4-5% แต่ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าฐานจะปรับลดลงเท่าใดนั้น ต้องใช้เวลาศึกษาระยะหนึ่ง
ปัจจุบันค่าไฟฟ้าของไทยงวดเดือนม.ค.-เม.ย. อยู่ที่ระดับ 3.86 บาท/หน่วย แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าฐาน 3.27 บาท/หน่วย และค่าเอฟที อยู่ที่ราว 0.59 บาท/หน่วย โดยค่าเอฟทีจะเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือนโดยมีปัจจัยหลักจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง
ด้านนายไกรสีห์ กรรณสูต หนึ่งในกกพ. กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับ 25% และคาดว่าจะขึ้นระดับสูงสุดมาอยู่ระดับ 41-42% ในช่วงปี 67 หลังจากนั้นคาดว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าจะลดลงเหลือกว่า 20% ดังนั้น ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงช่วง 10 ปีนี้ ทำให้รัฐต้องเจรจาเพื่อขอเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และเอกชนบางโครงการออกไปด้วย
ทั้งนี้ กกพ.ได้เจรจากับกฟผ.เพื่อขอเลื่อนโรงไฟฟ้ายูนิตใหม่ที่เตรียมจะเข้าระบบ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ,โรงไฟฟ้าบางปะกง ,โรงไฟฟ้าวังน้อย ,โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นต้น ส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเจรจาเลื่อนจ่ายไฟฟ้านั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่(IPP) ขนาด 540 เมกะวัตต์ เป็นต้น