โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ คือ 1.การช่วยเรื่องรายได้และสวัสดิการให้แก่เกษตรกรในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ 1 คณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านรายได้และสวัสดิการ มีหน้าที่วางแผนระยะยาว และกำหนดงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละปีตามความเหมาะสม โดยจะคิดคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเกษตร หรือ GDP ภาคเกษตร ในเบื้องต้นคาดการณ์ 10% ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะสามารถกำหนดงบประมาณที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในระยะยาวกับฐานะทางการเงินของประเทศ
3. การจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค เพื่อกำหนดรายได้และการช่วยเหลือแก่เกษตรกร ต้องเป็นผู้ที่ประชาชนเชื่อถือและมีความเป็นกลาง และ 4. เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องจ่ายเงินบำรุงเพื่อนำมาใช้จ่ายเฉพาะในการบริหารงาน เพื่อให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้ เช่น เงินเดือน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นต้น
"เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการเกษตรที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันนี้ทั้งหมด เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ความช่วยเหลือหรือคุ้มครองแก่เกษตรกรในเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดหาแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับ การจัดตั้งองค์กรเกษตรกร การควบคุมหรือการช่วยเหลือเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตหรือผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่มุ่งให้ความช่วยเหลือให้ความคุ้มครองในเรื่องรายได้และสวัสดิการแก่เกษตรกร จึงทำให้คนไทยในภาคเกษตรกรรมขาดความมั่นคงในอาชีพ" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อใดที่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมประสบภัยจากราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวน ทำให้รายได้ของเกษตรกรต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานรายได้ของประเทศ เป็นเหตุให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่รัฐต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดให้มีกฎหมายเพื่อดูแลด้านรายได้และสวัสดิการเกษตรกรเป็นการเฉพาะ และเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติมีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศ