ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าในเดือน ม.ค.58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.41% และจากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คาดว่ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2/58 หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ แต่คงไม่ติดลบมากถึง 1%
อย่างไรก็ดี กนง.เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด ไม่กระทบเสถียรภาพการเงิน แต่กลับจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจาก 1.การปรับลดลดของราคาไม่ได้เกิดขึ้นในทุกประเภทสินค้าและบริการ โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันนอกเหนือจากพลังงานยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นตามปกติ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นบวกทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับผลการประเมินของ กนง.ว่าอุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 58 และ 59
2. การลดลงของราคาน้ำมันเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งลดลง รวมทั้งผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายลดลง ซึ่งจะสนับสนุนให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งมากขึ้น และ 3. อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยจากการสำรวจอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากหลายสำนักในเดือนม.ค.58 ชี้ว่าแม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ในระยะ 6 ไตรมาสข้างหน้ายังอยู่ที่ 2.5% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 3/58 และเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 2.5% บวก/ลบ 1% ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ตามคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้นจากการทยอยปรับลดลงของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ตอบสนองต่อราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจะทำให้อุปสงค์น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นกลับเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี การประเมินแนวโน้มดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าประมาณการ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าที่คาด การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกต่ำกว่าที่คาด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.จะให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคา และการดูแลคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กนง.ตระหนักว่าโดยปกติผลของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 ไตรมาสกว่าจะมีผลเต็มที่
ดังนั้น ในการพิจารณานโยบาย กนง.จะให้ความสำคัญกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามากว่าระดับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ต่อราคาสินค้าและบริการโดยรวม มากกว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเฉพาะบางกลุ่มอันเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับนโยบายการเงิน
ในกรณีปัจจุบัน กนง.เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายไปอีกระยะหนึ่ง เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง เมื่อราคาน้ำมันกลับสูงขึ้นตามการปรับสมดุลของตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 4/58
"กนง.พิจารณาว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในครั้งนี้ เป็นผลของปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งมีผลดีในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และมิได้สร้างความกังวลเช่นในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเพราะภาวะอุปสงค์ซบเซา สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าสาธารณชนคาดว่าราคาสินค้าและบริการโดยรวมจะลดลงต่อเนื่อง จนทำให้ตัดสินใจเลื่อนการบริโภคและการลงทุนออกไป"
นอกจากนั้น นโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนปรนในปัจจุบันจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้ และ กนง.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ